กรมชลฯ เตือน 7 จว.ลุ่มเจ้าพระยา เฝ้าระวังน้ำ หลัง 'เขื่อนเจ้าพระยา' เร่งระบายน้ำ
กรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือน 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ หลัง "เขื่อนเจ้าพระยา" เร่งการระบายน้ำ เพื่อรองรับมวลน้ำ จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (20 ก.ย. 66) นายธวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือน สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 1 ถึง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เรื่อง การบริหารจัดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา
สืบเนื่องจากตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2566 ลงวันที่ 15 กันยายน 2566 เรื่องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 19 - 21 กันยายน 2566 พบว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุม พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก และจากการคาดการณ์ โดยกรมชลประทาน ใน 1-3 วันข้างหน้า กรมชลฯ ออกหนังสือแจ้งเตือน 7 จังหวัด หลัง "เขื่อนเจ้าพระยา" เร่งการระบายน้ำ
โดยในวันที่ 20 กันยายน 2566 ที่สถานีวัดน้ำ C2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 900 - 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ จากลำน้ำสาขามีปริมาณประมาณ 90 - 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำ ที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 990 - 1,320 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องระบายน้ำ ผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60 - 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)
โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมซน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้น ที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 1,140 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อน อยู่ที่ 16.50 เมตร/รทก. และปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อน อยู่ที่ 9.62 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่ง อยู่ที่ 6.72 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 696 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุดทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัด อยู่ที่ 629 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำ และควบคุมปริมาณการระบายน้ำ ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม รับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้ แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด