ปภ. เตือน 53 จังหวัด-กทม. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. 66
ปภ.แจ้ง 53 จังหวัด เหนือ-กลาง-ใต้-อีสาน และ กทม. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 26-29 ก.ย. 66
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ (248/2566) ลงวันที่ 24 กันยายน 2566 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 26 – 29 กันยายน 2566 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนตามแนวร่องมรสุม ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 26 - 29 กันยายน 2566 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง
- ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่
- แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย)
- ลำปาง (อ.เมืองฯ วังเหนือ เมืองปาน เถิน)
- ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง)
- สุโขทัย (อ.เมืองฯ ทุ่งเสลี่ยม บ้านด่านลานหอย)
- กำแพงเพชร (อ.เมืองฯ คลองลาน ขาณุวรลักษบุรี)
- อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด)
- พิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์)
- เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ วังโป่ง ชนแดน บึงสามพัน วิเชียรบุรี หนองไผ่)
- นครสวรรค์ (อ.แม่วงก์)
- อุทัยธานี (อ.บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก สว่างอารมณ์)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่
- เลย (อ.เมืองฯ ด่านซ้าย ท่าลี่ นาแห้ว วังสะพุง)
- หนองคาย (อ.สังคม)
- บึงกาฬ (อ.เมืองฯ บุ่งคล้า)
- หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา)
- อุดรธานี (อ.เมืองฯ ศรีธาตุ เพ็ญ วังสามหมอ กุดจับ พิบูลย์รักษ์ นายูง น้ำโสม)
- สกลนคร (อ.เมืองฯ ภูพาน สว่างแดนดิน บ้านม่วง)
- นครพนม (อ.เมืองฯ)
- ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ หนองบัวระเหว แก้งคร้อ บ้านแท่น ภูเขียว คอนสวรรค์)
- ขอนแก่น (อ.เมืองฯ หนองเรือ บ้านฝาง พระยืน มัญจาคีรี ชุมแพ)
- กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ยางตลาด ฆ้องชัย)
- มุกดาหาร (อ.เมืองฯ ดงหลวง หว้านใหญ่ หนองสูง)
- มหาสารคาม (อ.เมืองฯ โกสุมพิสัย)
- ร้อยเอ็ด (อ.เมืองฯ เสลภูมิ จังหาร เชียงขวัญ)
- ยโสธร (อ.เมืองฯ เลิงนกทา ค้อวัง มหาชนะชัย คำเขื่อนแก้ว ป่าติ้ว)
- อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ ชานุมาน เสนางคนิคม)
- นครราชสีมา (อ.เมืองฯ ปากช่อง วังน้ำเขียว)
- บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ)
- สุรินทร์ (อ.เมืองฯ ปราสาท พนมดงรัก)
- ศรีสะเกษ (อ.เมืองฯ ขุนหาญ)
- อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ นาจะหลวย นาเยีย น้ำขุ่น บุณฑริก น้ำยืน เดชอุดม โขงเจียม ม่วงสามสิบ ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน)
- ภาคกลาง 15 จังหวัด ได้แก่
- ชัยนาท (อ.เมืองฯ)
- ลพบุรี (อ.เมืองฯ บ้านหมี่)
- กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี ไทรโยค)
- สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ ด่านช้าง)
- ปทุมธานี (อ.ธัญบุรี คลองหลวง)
- นนทบุรี (อ.เมืองฯ ปากเกร็ด)
- สมุทรปราการ (อ.เมืองฯ บางพลี บางบ่อ บางเสาธง)
- นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี)
- ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี ประจันตคาม)
- สระแก้ว (อ.เมืองฯ อรัญประเทศ)
- ฉะเชิงเทรา (อ.ท่าตะเกียบ)
- ชลบุรี (อ.เมืองฯ บางละมุง ศรีราชา)
- ระยอง (อ.เมืองฯ แกลง บ้านค่าย ปลวกแดง)
- จันทบุรี (ทุกอำเภอ)
- ตราด (ทุกอำเภอ)
- ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่
- สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าชนะ บ้านตาขุน พนม บ้านนาเดิม บ้านนาสาร พระแสง เวียงสระ)
- นครศรีธรรมราช (อ.นบพิตำ ฉวาง ทุ่งใหญ่)
- ระนอง (ทุกอำเภอ)
- พังงา (ทุกอำเภอ)
- ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
- กระบี่ (ทุกอำเภอ)
- ตรัง (อ.วังวิเศษ นาโยง ย่านตาขาว)
- สตูล (อ.ท่าแพ มะนัง ละงู)
- กรุงเทพมหานคร (ทุกเขต) เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
- ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่
- ระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์)
- พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
- ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
- กระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด
รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนัก มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเดินเรือ ให้แจ้งเตือนการเดินเรือให้กับชาวเรือ และผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึง สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป