กฎหมายกับการพัฒนาความมั่นคงทางทะเลและเศรษฐกิจทางน้ำในทะเลใต้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันการแสวงหาประโยชน์ (Exploitation) และการสำรวจ (Exploration) เพื่อการใช้ประโยชน์ทางทะเลของแต่ละรัฐเป็นไปอย่างกว้างขวาง
การลงทุนในเชิงของเม็ดเงินที่ถูกใช้ไปเพื่อสำรวจและแสวงหาผลประโยชน์ทางทะเล (Flagship Focus) เพื่อให้สอดรับกับหลักการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินของธนาคารโลก (Blue Economy Principle of World Bank)
เมื่อพิจารณาถึงประเทศไทยของเราเอง เพื่อความสำเร็จในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคใต้ ความมั่นคงทางทะเลและการเรียนรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีขึ้นโดยอาศัยแนวนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นกรอบในการก้าวต่อไป
ในบทความฉบับนี้ จะขอหยิบยกประเด็นการพัฒนาความมั่นคงทางทะเลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสัมพันธ์กับบริบทกิจกรรมทางทะเลและความต้องการที่แท้จริงของภูมิภาคทะเลใต้ โดยเปรียบเทียบและยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านในน่านน้ำอินโด- แปซิฟิก
เช่น ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ( Republic of Korea) นั้น มีอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ประโยชน์ทางทะเลที่สูงมากออกสู่ตลาดโลก
ในทางกลับกันสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางทะเลของคาบสมุทรเกาหลี (Korea Peninsular ) ยังมีประเด็นที่น่าจับตามองและนำมาศึกษาเปรียบเทียบอย่างยิ่ง
พื้นที่ทะเลใต้ของประเทศไทยนั้นโอบล้อมด้วยสองมหาสมุทรกล่าวคือ มหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ocean) และมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean) จึงทำให้เป็นพื้นที่ทางทะเลทั้งสองฝั่งด้ามขวานของไทย เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ประการแรก จะขอกล่าวถึงความมั่นคงทางทะเลในเรื่องอาณาเขตทางทะเล (Maritime Delimitation) ในด้านพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Sea Overlapping Area) ปรากฏอยู่ในหลากหลายพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) และไหล่ทวีป (Continental Shelf) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งอยู่ในขณะนี้
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เป็นประเด็นปัญหามานาน ยังมิได้มีการทำการเจรจาเพื่อปักปันเขตแดนหรือทำข้อตกลงเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจนร่วมกัน
ในอนาคตอันใกล้หากเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐ ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการระงับข้อพิพาททางทะเลระหว่างประเทศ (Principle of Dispute Settlement) ตามบทบัญญัติของกฎหมายทะเล (UNCLOS- United Convention of the Law of the Sea)
รวมถึงหลักเกณฑ์ในเรื่องการแบ่งอาณาเขตทางทะเลหรือการพัฒนาการใช้ประโยชน์ร่วมกัน (JDA.- Joint Development Area) ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลทั้งทรัพยากรที่มีชีวิต และทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต
ในพื้นที่นี้จะประกอบไปด้วย น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและพันธุ์ปลา หลักกฎหมายสากลจะช่วยขจัดปัญหาและลดความไม่เข้าใจกันระหว่างสองประเทศได้หรือไม่
ประการที่สอง เกิดขึ้นกับรัฐอื่นในภูมิภาคอาเซียนของเราด้วยเช่นกัน กล่าวคือความมั่นคงทางทะเลกับ ปัญหาการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำไทย ทั้งจากเรือประมงสัญชาติไทยเองและเรือประมงต่างชาติ
ปัญหาเรื้อรังที่ยังคงเกิดขึ้นโดยกฎหมายระหว่างประเทศ อันเกี่ยวข้องในเรื่องการทำประมง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล เพียงลำพัง (Legal Means) อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาและระงับข้อพิพาทได้อย่างแท้จริง
ควรต้องมีการพิจารณาปัจจัยทางกฎหมายภายใน (Domestic Law) อย่างพระราชบัญญัติการทำประมงทั้งสองฉบับ พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือประมง รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อำนาจการหยุดเรือ การขึ้นตรวจค้นเรือ การตรวจสอบทะเบียนเรือ สัญชาติเรือและดำเนินกระบวนการยุติธรรมหลังจากนั้น
หากเป็นกรณีการที่น่านน้ำไทยถูกรุกล้ำโดยเรือประมงจีนและเรือประมงเวียดนามซึ่งมีแหล่งการกระทำความผิดกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคทะเลใต้ เช่น เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราชและบริเวณจังหวัดกระบี่
ความมั่นคงทางทะเลของไทย ประการที่สาม เป็นเรื่องของพื้นที่อนุรักษ์และคุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area) ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมากสำหรับประเทศไทย
เพราะในหนึ่งพื้นที่มีหน่วยงานและกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อการทำงานและบังคับใช้หลายแห่งและหลายฉบับ
อาทิเช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ ราชนาวีไทยและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวอย่างพื้นที่ซึ่งมีความท้าทายในประเด็นนี้เช่น เกาะโลซิน เกาะหลีเป๊ะ เกาะขามและเกาะกระ
เนื่องจากพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแต่ละแห่งมีความโดดเด่นทางชีววิทยาและการใช้ประโยชน์ต่างกัน ความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและกฎหมายเฉพาะเพื่อมาดูแลความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
เช่น บางพื้นที่ต้องการมาตรการคุ้มครองเรื่องปะการัง บางพื้นที่ต้องการมาตรการคุ้มครองเรื่องเขตห้ามล่า บางพื้นที่ต้องการมาตรการเรื่องคุณภาพน้ำเป็นต้น
เมื่อพิจารณาการใช้ประโยชน์ทางทะเลของประเทศที่มีความก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจอย่างสาธารณรัฐเกาหลีใต้ คาบสมุทรเกาหลี (Korea Peninsular) ซึ่งตั้งขนาบอยู่ในพื้นที่ทะเลเหลือง (Yellow Sea) และทะเลตะวันออก (East Sea)
ความมั่นคงทางทะเลจะปรากฏอยู่ที่เรื่องอาณาเขตทางทะเล ซึ่งมีประเด็นกับประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีเหนือซึ่งมีหน่วยงานนอกเหนือจากราชนาวีเกาหลีใต้คอยลาดตระเวนอยู่
กล่าวคือตำรวจชายฝั่ง (Korea Coast Guard) ช่วยสนับสนุนความมั่นคงในด้านนี้โดยบังคับใช้ระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานนี้เองประกอบหลักกฎหมายสากลอย่างกฎหมายทะเล ซึ่งประเทศไทยเองไม่มีหน่วยงานในลักษณะดังกล่าว
โดยประเด็นพิพาทส่วนมากจะเกิดขึ้นจากความคลุมเครือในวัตถุประสงค์ของการเดินเรือเข้าใกล้หรือรุกล้ำน่านน้ำ ตัวอย่างเช่น การเดินเรือของเรือเพื่อการสำรวจและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Marine Scientific Research)
ในส่วนของความมั่นคงทางทะเลอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองคือ การถูกรุกรานน่านน้ำของประเทศเกาหลีใต้โดยเรือประมงผิดกฎหมายสัญชาติจีนและรัสเซีย ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมาก
เนื่องจากการปราบปรามเรือประมงผิดกฎหมายจากรัฐอื่นดังกล่าวจำเป็นต้องอยู่ภายใต้และเป็นไปตามหลักในเรื่อง Use of Force และ Hot Pursuit รวมถึงปรับใช้ร่วมกับกฎหมายซึ่งให้อำนาจแก่ราชนาวีเกาหลีใต้และตำรวจชายฝั่งของเกาหลีใต้
จะเห็นได้ว่าการจะพัฒนาน่านน้ำทะเลใต้ยังมีประเด็นที่ท้าทายบทบัญญัติทางกฎหมายและการทำงานของหลายหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจทางน้ำ อันจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ.