ปลัด มท. สั่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ย้ำแม้สถานการณ์คลี่คลายก็อย่าประมาท
ปลัด มท. เผยการให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมย้ำเตือนแม้สถานการณ์หลายพื้นที่จะคลี่คลายก็อย่าประมาท ด้วยการติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (1 ต.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปลัด มท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่พี่น้องประชาชนในหลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการเน้นย้ำและกำชับแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์เพิ่มเติมจากแนวทางที่ทุกจังหวัด อำเภอถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว คือ “เรื่องของความรวดเร็ว” ในการที่จะลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย
โดยที่สำคัญที่สุดก็คือ ทางผู้นำหน่วยในพื้นที่ อันประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ จะต้องมีการดูแล บูรณาการเข้าไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน ตามมาตรการที่ได้ซักซ้อมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องใหญ่คือ “ต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์ของน้ำ” ทั้งน้ำจากฟากฟ้า คือ ฝนตก และน้ำจากต้นทางของแม่น้ำลำคลอง ลำห้วย คือ จากเทือกเขา รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีปริมาณความจุน้ำน้อยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
โดยใช้กลไกมิสเตอร์เตือนภัย จิตอาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ช่วยกันสอดส่อง สังเกต ดูแล และคอยเตือนภัย แจ้งเตือน (warning) เพื่อที่จะรับทราบสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงไปของสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในจุดเสี่ยงภัย เช่น บริเวณตีนเขาที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดดินสไลด์ หรือเป็นเส้นทางที่อยู่น้ำไหลหลาก เพราะตอนนี้สถานการณ์ของทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นน้ำไหลหลาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่สูง และมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ
ทั้งนี้ หากประเมินแล้วว่าจะเกิดเหตุ แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด/อำเภอ อย่างจริงจัง ต้องออกคำสั่งให้เด็ดขาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายขยายผลฐานความรู้ หรือฐานข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เกี่ยวกับจุดเสี่ยงภัย เกี่ยวกับช่องทางการสื่อสารที่จะเฝ้าระวังติดตามน้ำ นำข้อมูลข่าวสารจากการเฝ้าระวังติดตามน้ำไปสู่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการดำเนินการ “เมื่อเกิดภัย” ผู้นำหน่วยในพื้นที่ต้องน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้พี่น้องประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขโดยเร็ว ด้วยการบูรณาการกำลังคน ระดมสรรพกำลัง เครื่องไม้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ เข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งจัดพื้นที่ที่ปลอดภัยไว้ให้เป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราว มีที่หลับที่นอน มีโรงครัวประกอบอาหารการกิน มีน้ำดื่มสะอาด มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องร่วมกับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดและเหล่ากาชาดจังหวัด เป็นหน่วยหลักเติมเต็มบรรเทาความทุกข์ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
นอกเหนือจากความช่วยเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เรามีหลักการแนวทางและกฎหมายรองรับการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว และหากพื้นที่ไหนต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพื่อให้เกิดการบูรณาการเข้าไปช่วยเหลือตามกฎหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคณะกรรมการตามกฎหมายสามารถพิจารณาประกาศได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ “ภายหลังการเกิดเหตุ” ต้องเข้าสู่การฟื้นฟูและเยียวยาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการแก้ไขในขั้นต้น และในส่วนการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมกับพี่น้องประชาชนจัดทำผังน้ำชุมชน (Geo-Social Map) เพื่อเติมเต็มระบบผังน้ำของประเทศไทยให้เสร็จสมบูรณ์มาเป็นเวลา 1 เดือนเศษ เรามีข้อมูลผังลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ และผังน้ำชุมชนกว่า 100,000 ผัง ซึ่งขณะนี้ทุกส่วนราชการ/หน่วยงาน สามารถนำ Geo-Social Map ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้แล้ว
“สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้กำชับไปยังทุกจังหวัดในการเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ซึ่งทุกจังหวัดได้บูรณาการในการเตรียมความพร้อม และซักซ้อมแนวปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกด้าน แต่ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น ก็ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวม 28 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย น่าน ตาก กำแพงเพชร แพร่ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ตราด กาญจนบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สตูล และยะลา รวม 94 อำเภอ 320 ตำบล 1,361 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,499 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด 61 อำเภอ 239 ตำบล 1,057 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,797 ครัวเรือน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตระหนกตกใจ โดยทุกจังหวัดได้บูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเร่งเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยเจตนาเดียวกัน คือ มุ่งหมายให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติโดยเร็วที่สุด และขอเรียนว่า สถานการณ์ที่เกิดในตอนนี้เป็นภาวะน้ำท่วมไหลหลากที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะไหลลงไปสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว แล้วก็จะดีขึ้น “แต่ถึงอย่างไรก็อย่าได้ประมาท” ด้วยการติดตามฟังข่าวพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งจากผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง และขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของทุกภาคส่วนว่าสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในยามเกิดสถานการณ์อุทกภัยได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าในช่วงเวลานี้ เราอยู่ในช่วงเวลาที่กำลังประสบกับสถานการณ์ “น้ำท่วม” ในพื้นที่ 28 จังหวัด แต่ก็ต้องอย่าลืม “น้ำแล้ง” ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนมหาดไทยก็ต้องดูแลพี่น้องประชาชนอีกหลายจังหวัดที่ในพื้นที่กำลังประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งจากอิทธิพลของเอลนีโญ หรือภาวะฝนแล้ง
อย่างเช่นที่ จ.นครสวรรค์ ตอนนี้บึงบอระเพ็ดยังต้องเพียรพยายามสูบน้ำจากแม่น้ำน่าน ซึ่งมีระดับต่ำกว่าบึงบอระเพ็ดเป็นเมตรๆ เพื่อเติมเต็มน้ำในบึงบอระเพ็ดที่จะต้องมีระดับน้ำที่มากพอ เพื่อรักษาสมดุลสภาวะแวดล้อม หรือที่เราเรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ อันประกอบด้วย สัตว์น้ำ พืชน้ำ และนกน้ำ ที่มีเป็นหมื่นๆ ชนิดไม่ให้สูญพันธุ์ไป หรือที่ จ.พิษณุโลก ก็ยังมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย แม้ว่าจะมีน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอที่ติดกับ จ.เลย ซึ่งเป็นที่สูง เช่น อ.วังทอง แต่ปริมาณน้ำในคลองชลประทานและแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตรยังน้อยอยู่มาก
โดยตนได้มีวิทยุแจ้งไปเมื่อวานนี้ (30 ก.ย.66) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ช่วยกัน Re X-Ray สำรวจว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยในอำเภอและจังหวัดที่มีความเสี่ยงภัยเรื่องภัยแล้ง หรือเรื่องน้ำท่วม อยู่บริเวณไหนบ้าง และมีแนวทางเสนอแนะว่า การแก้ไขปัญหาระยะยาว อยากให้ทำอะไร และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำไปแล้ว ทำอะไร เพื่อนำเข้าสู่ระบบ MOI War Room ที่จะเป็น Big Data การบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำสำหรับประชาชนได้ครอบคลุมทั่วถึงในทุกมิติ เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก
เพราะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางไว้ว่า “ยามที่เรามีน้ำท่วม ก็ต้องพยายามระบายน้ำให้แห้ง เพื่อให้คนหายจากความเดือดร้อนโดยเร็ว แต่เวลาหน้าแล้ง เราจะไม่มีน้ำใช้” เพราะฉะนั้นดีที่สุด เราจะทำอย่างไรที่จะหาแนวทางจัดเก็บน้ำยามที่มีน้ำมาก ใส่โอ่ง ใส่ตุ่ม ใส่บึง ใส่แก้มลิง ใส่หนองน้ำ หรือถ้ามีระยะเวลายาวพอสมควร สิ่งที่เราเรียกว่า “การบริหารจัดการพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา หรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวทางไว้ในเรื่องของ “อารยเกษตร” คือ ทำให้พื้นที่ของเรามีเรื่องของแหล่งน้ำที่จะตัดมวลน้ำในที่ราบลุ่มไม่ให้ไหลลงไปสู่แม่น้ำทั้งหมด ให้เก็บไว้ในพื้นที่ที่เราสามารถกักเก็บได้
“ข้อมูลจากการ Re X-Ray พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำแล้งและน้ำท่วมที่ชาวมหาดไทยกำลังดำเนินการสำรวจให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ต.ค.นี้ จะได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะท่านให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และจะได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณานำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การบริหารจัดการงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำของประเทศที่อิงกับ Thai Water Plan : TWP ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อาจจะไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน เพราะการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องมีแหล่งน้ำขนาดเล็กมากที่จำเป็นต้องดำเนินการจัดทำ
เพื่อให้สามารถช่วยตัดมวลน้ำหรือกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง ไม่ให้น้ำท่วมในหน้าฝน หรือกรณีที่เจอปัญหาเฉพาะหน้าในยามที่ฝนตกหนักเช่นนี้ แต่แหล่งน้ำขนาดเล็กไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ในระบบ TWP ซึ่งจะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาหลักการปลดล็อกการบริหารจัดการน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจาก TWP เพื่อให้โครงการขนาดเล็ก ขนาดย่อย สามารถได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ระบบการบริหารจัดการน้ำของเราสมบูรณ์แบบ และมีความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการระเบิดหินในแม่น้ำชี หรือแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยยืนยันว่า “ไม่มีแนวคิดเรื่องของการใช้งบประมาณจำนวนมากไประเบิดแก่งสะพือ” เพราะกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำการศึกษาและมีผลการศึกษาที่สมบูรณ์แบบแล้ว ได้ข้อสรุปว่า ควรจะมีการทำ floodway หรือ “คลองคู่ขนานกับแม่น้ำชี” เพื่อให้บริเวณที่เป็นสันดอนตามธรรมชาติยังคงเป็น Soft Power ของคนไทย และใช้งบประมาณน้อยมาก ไม่ต้องทำลายธรรมชาติอันสวยงามที่แก่งสะพือ แต่บางจุดอาจต้องขยายขอบแม่น้ำที่อาจมีความจำเป็นต้องเวนคืนที่อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่บริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัย และขอเรียนไปยังพี่น้องประชาชนทุกคนว่า การทำงานของภาคราชการไม่ได้ทำในลักษณะทุบโต๊ะ แต่เราทำในลักษณะให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมเป็น Partnership เป็นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม จึงขอให้อย่าเชื่อข่าวลือ และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น สื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร/ข้อเท็จจริงจากทางราชการให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตามระเบียบของทางราชการ ภายหลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ โดยพี่น้องประชาชนที่กลับเข้ายังอาคารบ้านเรือน ขอให้ตรวจสอบความเสียหายและความปลอดภัยของตัวบ้าน ก่อนที่จะกลับเข้าไปในบ้าน เช่น ระบบไฟฟ้า ท่อประปา แก๊ส รวมถึงสัตว์มีพิษที่อาจเข้ามาอาศัยในบ้าน และหากต้องการขอรับความช่วยเหลือในทุกเรื่อง ขอให้แจ้งไปยังผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนนิรภัย 1784 และสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง