ปภ.แจ้งเตือนภัย ระดับ 3 น้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้น
ปภ.แจ้งเตือนภัยระดับ 3 น้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้น ขอให้ประชาชนที่อาศัยริมฝั่งเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือนระดับน้ำใน แม่น้ำยม เพิ่มสูงขึ้น ระดับการแจ้งเตือนภัย ระดับ 3 เสี่ยงอันตราย (สีเหลือง)
จากการติดตาม สถานการณ์น้ำ บริเวณสถานี Y 33 อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย วันนี้ (2 ต.ค.2566) เมื่อเวลา 12.00 น. ระดับน้ำบริเวณสถานี Y 33 สูงกว่าตลิ่ง 85 เซนติเมตร มีน้ำกัดเซาะถนนแนวริมแม่น้ำบริเวณบ้านวังใหญ่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ขาด ขอให้ประชาชนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำยม เฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
โดยช่วงเช้าเวลา 09.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 28 จังหวัด รวม 95 อำเภอ 322 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,423 ครัวเรือน ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 2 ต.ค.66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัด 58 อำเภอ 232 ตำบล 1,037 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,590 ครัวเรือน ได้แก่
1. ลำพูน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอลี้ รวม 6 ตำบล 36 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 300 ครัวเรือน
2. เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อมก๋อย ฮอด แม่ออน จอมทอง เมืองเชียงใหม่ แม่แจ่ม แม่ริม สันป่าตอง และเชียงดาว รวม 14 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 100 ครัวเรือน
3. ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ เถิน เกาะคา สบปราบ เสริมงาม และแม่พริก รวม 21 ตำบล 97 หมู่บ้าน
4. แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอได้แก่ ลอง วังชิ้น เด่นชัย เมืองแพร่ และสูงเม่น รวม 40 ตำบล 198 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 837 ครัวเรือน
5. ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ เมืองตาก สามเงา พบพระ แม่สอด และบ้านตาก รวม 16 ตำบล 81 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,654 ครัวเรือน
6. สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง กงไกรลาศทุ่งเสลี่ยม ศรีนคร คีรีมาศ บ้านด่านลานหอย และเมืองสุโขทัย รวม 38 ตำบล 138 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 1,258 ครัวเรือน
7. กาฬสินธุ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี และสหัสขันธ์ รวม 34 ตำบล 149 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,573 ครัวเรือน
8. ยโสธร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ ป่าติ้ว เมืองยโสธร และค้อวัง รวม 3 ตำบล 7 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน
9. อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ม่วงสามสิบ เดชอุดม ตระการพืชผล เขื่องใน เหล่าเสือโก้ก ตาลสุม และดอนมดแดง รวม 57 ตำบล 298 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,733 ครัวเรือน
10. ปราจีนบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ ประจันตคาม และกบินทร์บุรี รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 95 ครัวเรือน
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จังหวัดกาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”