เส้นทางพายุไต้ฝุ่น 'โคอินุ' ล่าสุด ไทยเจออิทธิพลมรสุมฝนตกหนักยาวถึง 14 ต.ค.
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยเส้นทางพายุไต้ฝุ่น 'โคอินุ' ล่าสุด! มุ่งหน้าทางตอนใต้ของประเทศจีน ขณะที่ไทยเจออิทธิพลร่องมรสุม-หย่อมความกดอากาศต่ำ ทำฝนตกหนักถึง 14 ต.ค.66
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนใกล้เกาะไต้หวัน เช้าวันนี้ (5 ตุลาคม 2566) พายุไต้ฝุ่น 'โคอินุ' (KOINU) กำลังเคลื่อนตัวผ่านทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน และเคลื่อนตัวทางตะวันตกมุ่งไปทางตอนใต้ของประเทศจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง และเกาะฮ่องกง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงอีก และไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพอากาศของประเทศไทย เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ทำให้พายุอ่อนกำลังลงในช่วงดังกล่าว
ส่วนฝนที่จะเกิดขึ้นในขณะนี้มาจากร่องมรสุมที่ยังพาดผ่านประเทศไทย และหย่อมความกดอากาศต่ำ ยังต้องติดตามเป็นระยะ ไม่น่ากังวลเรื่องพายุโคอินุ แต่ขอให้เฝ้าระวังฝนที่จะตกต่อเนื่องและฝนตกหนักจากอิทธิพลของร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำ
โดยช่วงวันที่ 5-9 ตุลาคม 2566 บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง (กทม.และปริมณฑล) และภาคตะวันออกในช่วง 10-14 ตุลาคม 2566 ดังนั้นระยะนี้อากาศจึงมีความแปรปรวนสูง
กรมอุตุนิยมวิทยา 'พยากรณ์ฝนสะสม' 10 วันล่วงหน้า (ระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม 2566) จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF)
โดยวันนี้ 5 ตุลาคม 2566 ทิศทางลมยังแปรปรวน หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคกลาง ประกอบกับร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ฝนยังเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำ ต้องระวังฝนหนักบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง (กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในระยะนี้ คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง โดยเฉพาะทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร
ส่วนวันที่ 6-9 ตุลาคม 2566 ร่องมรสุมจะสวิงขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง เป็นช่วงท้ายๆของฝนที่จะเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศมีความแปรปรวนสูง ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมาปกคลุมแล้ว
และในช่วงวันที่ 10-14 ตุลาคม 2566 มวลอากาศเย็น (ความกดอากาศสูง) เริ่มแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ทำให้มีอากาศเย็นในตอนเช้า ทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ ปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ฝนยังเกิดขึ้นบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน
(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)