ศูนย์ฯน้ำส่วนหน้าอีสาน เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คาดฝนตกหนักช่วง 6-7 ต.ค.นี้
สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำภาคอีสาน เร่งประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมเฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งมีปริมาณน้ำมาก หลังคาดการณ์ฝนยังตกหนักช่วงวันที่ 6-7ต.ค.นี้ กำชับแผนระบายน้ำต้องรัดกุม ไม่ซ้ำเติมน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ
วันนี้ (5 ต.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดว่าตั้งแต่วันที่ 6-7 ต.ค.66 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนตกมากขึ้น
เนื่องจากในช่วงนี้ยังมีร่องมรสุมพาดผ่านในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล จะทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมาก ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน หนองหาร เขื่อนลำปาว เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเฉพาะหนองหาร เขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักไปแล้ว
ทั้งนี้ภาพรวมของระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ยังอยู่ในเกณฑ์น้ำมากและมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ จ.นครพนม สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี โดยหลังจากจากวันที่ 8 ต.ค.66 ปริมาณฝนจะค่อยๆ เบาบางลง
เนื่องจากการคาดการณ์ฝนในช่วงวันที่ 6-7 ต.ค.นี้ ในพื้นที่ภาคอีสานจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแนวทางการระบายน้ำภายใต้การทำงานของศูนย์ฯบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำอย่างรัดกุมรอบคอบ และต้องเป็นบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำตลอดลุ่มน้ำเนื่องจากมีความคาบเกี่ยวหลายจังหวัด เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม ลดผลกระทบต่อประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในลำน้ำชียังมีค่อนข้างมาก ทำให้ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่รวมน้ำที่ไหลผ่านจากลำน้ำมูลและลำน้ำชีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ปริมาณน้ำที่สถานี M.7 อ.วารินชำราบ มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยลุ่มน้ำมูลยังมีพื้นที่รับน้ำค่อนข้างมากและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่มากนัก
ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบน้ำท่วมของ จ.อุบลราชธานี และพื้นที่ลำน้ำชี จึงให้ลุ่มน้ำมูลพิจารณาใช้เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาหน่วงน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีลงแม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดระดับน้ำท่วมของ อ.วารินชำราบ ให้ต่ำลงและช่วยเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยในวันพรุ่งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและเยี่ยมให้กำลังประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย
“ส่วนการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ขอให้ประเมินแนวทางการระบายน้ำหลังจากวันที่ 7 ต.ค.ไปแล้วอีกครั้ง เพื่อปรับเกณฑ์การระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนลำปาวได้ปรับลดการระบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมของ จ.อุบลราชธานี อีกทางหนึ่ง โดยในวันที่ 7 ต.ค.นี้ สทนช.จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมที่เขื่อนลำปาวเพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมทั้งต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับรับมือผลกระทบเอลนีโญด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยใน จ.อุบลราชธานี มี 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ อ.ม่วงสามสิบ อ.ตระการพืชผล อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ดอนมดแดง อ.เขื่องใน อ.เดชอุดม และ อ.ตาลสุม ปัจจุบันมีศูนย์พักพิงชั่วคราวใน 2 อำเภอ ที่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ จำนวน 20 จุด มีจำนวนชุมชนที่อพยพทั้งสิ้น 25 ชุมชน 433 ครัวเรือน 1,474 คน โดยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่เกิดฝนตกลงมาซ้ำ
หลังจากนั้น เลขาธิการ สทนช. และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ณ ประตูน้ำข้างวัดเสนาวงศ์ อ.วารินชำราบ เป็นเครื่องสูบน้ำขนาด 30 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง โดยเริ่มสูบน้ำตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.ย. และปัจจุบันยังดำเนินการสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากชุมชนท่าบ้งมั่งและชุมชนเกตุแก้ว และในช่วงบ่ายลงพื้นที่ติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศลและเขื่อนลำโดมใหญ่ด้วย โดยมอบนโยบายให้มีการปรัดลดการระบายน้ำและเป็นการหน่วงน้ำไว้ด้านเหนือเขื่อน เพื่อให้น้ำจากแม่น้ำชีไหลลงแม่น้ำโขงก่อน