สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 15 ต.ค. 66
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 15 ต.ค. 66 ประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 15 ต.ค. 66 ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
คาดการณ์สถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 16–19 ต.ค. 66 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 14 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 7,657 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
- ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 59,908 ล้าน ลบ.ม. (73%)
- ปริมาณน้ำใช้การ 35,738 ล้าน ลบ.ม. (62%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 10 แห่ง
- ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่มอก แควน้อยบำรุงแดน และกิ่วลม
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง ลำปาว หนองหาร น้ำพุง และอุบลรัตน์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง
- ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
- ภาคตะวันออก : คลองสียัด ภาคตะวันตก: ปราณบุรี
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
สถานการณ์อุทกภัย
พื้นที่ชุมชน รวม 6 จังหวัด 21 อำเภอ 93 ตำบล 532 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,916 ครัวเรือน ดังนี้
- ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ร้อยเอ็ด ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง จ.กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ภาคใต้ จ.ยะลา ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
พื้นที่เกษตรกรรม รวม 23 จังหวัด 457,225 ไร่ ได้แก่ จ.อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร หนองบัวลำภู อุดรธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
สทนช. ประกาศ ฉบับที่ 3/2566 เรื่องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 12 – 18 ต.ค. 2566 ดังนี้
1. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม แม่มอก น้ำห้วยหลวง น้ำพุง หนองหาร อุบลรัตน์ ลำปาว และขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีแนวโน้มปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80
2. พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
- แม่น้ำยม บริเวณ อ.ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และกงไกรลาศ จ.สุโขทัย อ.พรหมพิราม และบางระกำ จ.พิษณุโลก อ.สามง่าม และโพทะเล จ.พิจิตร
- แม่น้ำมูล บริเวณสถานี M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +113.00 ถึง +113.50 ม.รทก. สูงกว่าตลิ่ง 1.00–1.50 ม. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณ อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร ดอนมดแดง ตระการพืชผล และม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
- แม่น้ำยัง บริเวณสถานี E.92 อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด คาดการณ์ว่าในวันที่ 10-11 ต.ค. 66 ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สูงกว่าตลิ่ง 1.00-1.50 ม. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณ อ.เสลภูมิ และโพนทอง จ.ร้อยเอ็ด และลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ในวันที่ 13-14 ต.ค. 66
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.อุตรดิตถ์ ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสตูล
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก ติดตามปัญหาน้ำประปา ยันให้ความสำคัญสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
โดยรัฐบาลได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาท่อน้ำประปาที่สร้างมาเป็นเวลานานจนประสบปัญหารั่วซึม และสูญเสียน้ำระหว่างการส่งน้ำ ซึ่งเมืองพิษณุโลก 80 ปีที่ผ่านมาพัฒนาจากเมืองรองจนเป็นเมืองหลักแห่งการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การพัฒนาของเมืองก็จะไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานและจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจปัญหาและหาทางแก้ไขในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวต่อไป
น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน