'กรมชลประทาน' ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
'กรมชลประทาน' ลงพื้นที่ติดตาม 'สถานการณ์น้ำ' พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ย้ำบริหารจัดการน้ำรอยต่อทุ่งผักไห่-ทุ่งเจ้าเจ็ด ให้เกิดประสิทธิภาพ ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สืบเนื่องจากร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในลุ่มน้ำทางตอนบนไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อควบคุมปริมาณไหลผ่านเขื่อนให้กระทบพื้นที่ด้านท้ายให้น้อยที่สุด ด้วยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตามศักยภาพ เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้การรับ-ส่งน้ำเป็นไปอย่างมีระบบและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังได้ทำประชาคมสอบถามความสมัครใจจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ต้องการรับน้ำเข้าพื้นที่ตามเกณฑ์และข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพาะปลูกในฤดูแล้ง ตามข้อสั่งการของศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ทุ่งผักไห่และทุ่งเจ้าเจ็ดต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายที่ลดลง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ บริหารจัดการน้ำเชิงระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงเวลา ปริมาณน้ำในพื้นที่ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน เพื่อให้สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์