ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ร่องรอย 'ดาวหางฮัลเลย์' คืนนี้ 21 ต.ค.66 แนะจุดดูดาวชัดๆ

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ร่องรอย 'ดาวหางฮัลเลย์' คืนนี้ 21 ต.ค.66 แนะจุดดูดาวชัดๆ

"ฝนดาวตกโอไรออนิดส์" ร่องรอยของ "ดาวหางฮัลเลย์" ห้ามพลาดโดยคืนนี้ (21 ต.ค.2566) จะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น. หากฟ้าใสไร้ฝน ลุ้นชมความสวยงามได้ทั่วประเทศ

ในคืนวันที่ 21 - รุ่งเช้า 22 ตุลาคม 2566 จะมี "ฝนดาวตกโอไรออนิดส์" ร่องรอยของ "ดาวหางฮัลเลย์" เมื่อครั้งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 21 ตุลาคมเป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 22 ตุลาคม บริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง หากฟ้าใสไร้ฝน ลุ้นชมความสวยงามได้ทั่วประเทศ

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ (Orionids) เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจร ขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี พ.ศ. 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกจึงดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุดังกล่าวเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ 2566 ในคืนดังกล่าว ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 23.30 น. หลังจากนั้นจะไร้แสงจันทร์รบกวนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป อีกทั้งยังตรงกับคืนเสาร์-อาทิตย์พอดี จึงเป็นโอกาสดีที่จะชมฝนดาวตก วิธีการสังเกตที่ดีที่สุดคือมองด้วยตาเปล่า เลือกสถานที่ที่ปราศจากแสงรบกวนหรือห่างจากแสงเมืองให้มากที่สุด จะทำให้เห็นดาวตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้ว่าฝนดาวตกโอไรออนิดส์จะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียงประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง แต่ก็เป็นฝนดาวตกที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่สังเกตได้ง่าย และมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวงให้ชม อาทิ ดาวบีเทลจุส (สีส้มแดง) ดาวไรเจล (สีฟ้าขาว) รวมถึง ดาวซิริอุส ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวหมาใหญ่ใกล้ ๆ กัน นอกจากนี้ หากบันทึกภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกในคืนดังกล่าว อาจได้ภาพของดาวตกที่เคียงคู่ดวงดาวที่สวยงามอันดับต้นๆของท้องฟ้าก็เป็นได้

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน ของทุกปี เพราะฉะนั้นเราสามารถรอชมความสวยงามได้ทุกปี แต่หากเป็น ดาวหางฮัลเลย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกนี้ จากการคำนวณคาดว่าดาวหางจะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์อีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 ดังนั้น เราน่าจะได้เห็นดาวหางกันอีกครั้งในอีก 38 ปีข้างหน้า 

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ร่องรอย \'ดาวหางฮัลเลย์\' คืนนี้ 21 ต.ค.66 แนะจุดดูดาวชัดๆ

 

สถานที่แนะนำจุดดูฝนดาวตกโอไรออนิดส์

นอกจากการดูด้วยตาเปล่า หากใครที่ต้องการรับชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแบบชัดๆ ตามเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ปี 2566 ซึ่งมีทั้งหมด 18 แห่งทั่วประเทศดังนี้

อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)

  1. อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ลานชมดาว) จ.กำแพงเพชร
  2. อุทยานแห่งชาติตาพระยา (ลานกลางเต้นท์กลางดง) จ. สระแก้ว
  3. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ. นครราชสีมา
  4. อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) จ. น่าน
  5. วนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ. อุบลราชธานี

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)

  1. มีลา การ์เดน รีทรีท คอทเทจรีสอร์ท จ.สระบุรี
  2. คีรีมาลา อีโค่ แคมป์ จ.ราชบุรี
  3. ฟาร์มแสงสุข จ.ระยอง
  4. ไร่เขาน้อยสุวณา จ.นครราชสีมา
  5. ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย จ.เชียงใหม่
  6. วิลลา เดอ วิว บูทีค รีสอร์ท เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  7. เชียงดาวฟาร์มสเตย์ จ.เชียงใหม่
  8. บ้านสวน ป่าโป่งดอย จ.เชียงใหม่
  9. เดอะ ทีค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่
  10. พูโตะ จ.เชียงใหม่
  11. อ่าวโต๊ะหลี จ.พังงา

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs)

  1. สวนสัตว์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น
  2. ซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

 

 

 

ภาพและข้อมูลประกอบจาก 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด