สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 ต.ค. 66
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 ต.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เฝ้าระวัง 9 แหล่งน้ำขนาดใหญ่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 ต.ค. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ ในช่วงวันที่ 24-27 ต.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น โดยฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 21 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 6,151 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
- ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 61,865 ล้าน ลบ.ม. (75%)
- ปริมาณน้ำใช้การ 37,698 ล้าน ลบ.ม. (65%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 9 แห่ง
- ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม และแม่มอก
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง ลำปาว หนองหาร และอุบลรัตน์ ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง
- ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
- ภาคตะวันออก : คลองสียัด ภาคตะวันตก: ปราณบุรี
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ
1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด
2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง
3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงราย และอุทัยธานี ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ จ.ตรัง นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส
สถานการณ์อุทกภัย
พื้นที่ชุมชน รวม 4 จังหวัด 19 อำเภอ 84 ตำบล 487 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,911 ครัวเรือน ดังนี้
- ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
พื้นที่เกษตรกรรม รวม 17 จังหวัด 427,804 ไร่ ได้แก่ จ.สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
กรมทรัพยากรน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิค ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง สูบน้ำจากบึงระหารน้ำใส เข้าไปในหนองสามความ เพื่อเร่งเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝน สำหรับเป็นแหล่งน้ำดิบระบบประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 บ้านหัวโปร่ง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค - บริโภค ภายในหมู่บ้านและ ครัวเรือนในช่วงฤดูแล้ง โดยมีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 620 ครัวเรือน 1,804 คน
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ติดตามเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างระบบประปาบาดาล ขนาด 27 ลบ. ม. และระบบสูบน้ำ
ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ บ้านหนองในดง หมู่ที่ 4 ต.บางลาย อ.บึงนาราง จ.พิจิตร
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทและกลั่นกรองแผนงานและโครงการด้านทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 66 ณ ห้องประชุมศรีสมุทโภคไขย ชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง อ.เมือง จ.ระยอง ที่ประชุมได้รับทราบ ค่าเป้าหมายตามร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ร่าง)แผนขับเคลื่อนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค และ ปรับปรุงปฏิทินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การตรวจสอบกลั่นกรอง และจัดลำดับความสำคัญ แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก