เรื่องที่ป้องกันได้ | อมร วาณิชวิวัฒน์
สังคมไทยมีหลายเรื่องราว ที่เป็นอุบัติเหตุหรืออันตรายร้ายแรง อันอาจคาดไม่ถึง แต่ส่วนใหญ่เกิดจากความอวดรู้ ถือดี ประมาท กระทั่งความบกพร่องสะเพร่าของมนุษย์ ทั้งหลายทุกเพศวัยและเผ่าพันธุ์
เหมือนกรณีล่าสุด มี “เจ็ตสกี” ที่คนขับขี่ตกใจปล่อยให้วิ่ง ปราศจากคนบังคับไปชนคนตายทีเดียว 3 ศพ เป็นข่าวโจษจันไปทั่วแว่นแคว้น คนขี่ที่ขาดสติ ขับขี่แข่งกันในคลองขนาดเล็กสวนทางกับเรือหางยาวที่ขับขี่มาในทางสัญจรในลำคลองเดียวกัน คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องมาเสียชีวิตเพราะความขลาดเขลาของคนไม่กี่คน
ผมเองเพิ่งประสบอุบัติเหตุทางถนนล่าสุด แต่ด้วยสามารถประคับประคองสติป้องกันไม่ให้รถไถลหมุนไปชนรถคันอื่นๆ สี่ห้าคันที่เขาจอดคอยเมื่อเห็นว่าผมไม่สามารถบังคับรถได้แล้ว แต่ด้วยน้ำหนักรถที่หนักมากหากปล่อยไปพุ่งชนรถคันอื่นความเสียหายจะหนักหนาสาหัสและอาจถึงแก่ชีวิตบุคคลอื่น จึงตัดสินใจพุ่งชนแบริเออร์
แม้จะด้วยความเร็วที่ไม่มากแล้วแต่ก็ทำให้เบ้าตาช้ำไปหลายวัน ที่เล่าสู่กันฟังเพื่อให้เห็นว่าหากใช้ยานพาหนะด้วยความรับผิดชอบ และครองสติได้ก็จะสามารถควบคุมความหนักเบาของเหตุการณ์ได้ประมาณหนึ่ง
พวกเราอาจคุ้นชิน คนขับรถโดยสาร คนขับเรือ คนขับเครื่องบิน ที่เป็นกัปตัน เป็นนายท้ายถือหางเสือควบคุมขับขี่เรือ ต้องอยู่กับพาหนะนั้นกระทั่งนาทีสุดท้ายก่อนจะสละชีพได้ถ้าจำเป็นเพื่อปกป้องคุ้มครองคนโดยสารให้พ้นภัย
แต่ด้วยจิตสำนึกของคนในระยะหลังๆ ที่หมกมุ่นกับตัวเอง เน้นเสรีภาพ ที่คำจำกัดความบางครั้ง “หมิ่นเหม่กับความเห็นแก่ตัว” ทำให้คุณธรรม ความเสียสละ ที่คนรุ่นบรรพบรุษเคยสร้างสรรไว้ ดูจะเหมือนมลายหายไปสิ้น
เจตนาการเขียนบทความชิ้นนี้ ถ้าคนอ่านใจกว้างพอ คงจะไม่วิจารณ์ในทางเสียหายว่าเป็นการบ่นหรือก่นด่าประณามเพื่อความสะใจ ถ้าจะกรุณาพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า ผู้เขียนปรารถนาสะท้อนจิตสำนึกความรับผิดชอบไปทั้งหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมเจ้าท่า ฝ่ายปกครอง หรืออาจจะเหมารวม กรุงเทพมหานคร (กทม.)
อย่างกรณี เจ็ตสกีขับขี่ด้วยความรวดเร็วเป็นฝูงใหญ่ๆ มีเป็นประจำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ส่วนในแม่น้ำบางปะกง ฉะเชิงเทราบ้านเกิดผมนั้น คงต้องเพิ่มให้ทางจังหวัดเข้ามาช่วยดูแลแก้ไขปัญหา รวมไปถึงภาคส่วนอื่นๆ ทั้งท้องถิ่นและชุมชนที่จะต้องระมัดระวังเสริมมาตรการป้องกันภัยอันตรายให้ตนเองและสมาชิกในชุมชนด้วย
เหตุการณ์คล้ายๆ เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมักได้ยินคนพากันพูดเสมอว่า “ขอให้เหตุการณ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่มันก็ยังคงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า” และเป็นปรากฏการณ์ซ้ำๆ ที่วนเวียนเหมือน “ลิงแก้แห” หรือ “วัวพันหลัก” ที่เข้าใจได้ดังสุภาษิต
ก่อนหน้านี้มี กรณีมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบท์ตำรวจขับขี่ชนคุณหมออนาคตไกลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เดินข้ามทางม้าลายแถวโรงพยาบาลรามาธิบดีถึงแก่ชีวิต ระยะแรกๆ ก็มี คำขวัญ มีคนแสดงความอาลัย มีช่อดอกไม้ มีซุ้ม ตั้งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุแต่เมื่อวันเวลาผ่านไป คนก็เริ่มลืม และยังปรากฏเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ในพื้นที่อื่นๆ คนอื่นๆ คล้ายๆ กัน
ก่อนที่ต่อมา อดีต ผู้กำกับ สน ที่ว่านี้ท่านหนึ่งจะไปมีชื่อพัวพันในความผิดมาตรา 157 กับคดีของ “กำนันนก” ไม่ใช่ต้องการไปตำหนิใคร แต่สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในสังคมไทยที่ทำหน้าที่ถูกต้องก็ชื่นชมให้กำลังใจ
แต่คนที่เป็นไม้หลักปักเลนไม่อยู่กับร่องกับรอย แสวงประโยชน์สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ดูแลรับผิดชอบงานในหน้าที่ กระทั่งเป็นบ่อเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา แม้เพียงหย่อนยานในหน้าที่ยังส่งผลให้ผู้อื่นถึงตายได้ ยังเป็นปรากฏการณ์อยู่ทุกหย่อมหญ้าแทบทุกหน่วยงาน
ตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 ถือว่า พาหนะทางน้ำทุกชนิดเรียกว่า “เรือ” จะเป็นเจ็ตสกี รถซูเปอร์คาร์เอาโครงรถมาทำเป็นลำเรือ ก็ต้องเรียกว่า “เรือ” ในทุกวันนี้เทคโนโลยีวิทยาการก้าวหน้าพัฒนาไปมาก อีกหน่อยอาจมีพาหนะชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจนำปัญหาน่าปวดเศียรเวียนเกล้ามาสร้างภาระให้รัฐอีก
เมื่อเจ็ตสกีจะนำมาวิ่งในลำคลอง จะอ้างมาขนของมาบรรเทาทุกข์ มาทำอะไรก็ต้องขอนุญาตและได้รับอนุญาตจึงจะนำมาแล่นสัญจรได้ แต่ที่ผ่านมา ทางบกเราก็เคยเห็นรถยกสูงเหมือนตึกสองชั้น นึกจะวิ่งนึกจะเอาไปลุยป่าลุยเขาก็ยังต้องขออนุญาต
เหมือน “รถถัง” เวลาออกฝึกภาคสนามยังจะต้องรายงานหรือประกาศให้ทราบโดยทั่วกันเพราะมันไม่ใช่ทางปกติ
เหตุการณ์ที่เกิดชึ้นจะอ้าง “การโดนกันของเรือ” ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นเพราะอุบัติเหตุมิได้เลย
เพราะการขับขี่แข่งกันมาด้วยความคึกคะนอง ผู้ขับขี่ย่อมทราบดีและเล็งเห็นผลอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว
ยิ่งการปล่อยให้เรือวิ่งไปเองโดยพลการตามที่ข่าวรายงานว่า เมื่อผู้ขับขี่ตกใจจึงโดดหนีและปล่อยให้เรือวิ่งไปโดยปราศจากการควบคุม จึงเป็นความน่าละอายที่นำมาซึ่งความบาดเจ็บล้มตาย และความน่าเศร้าสลดกับการปล่อยปละละเลยของผู้เกี่ยวข้อง ที่ทำให้เกิดเรื่องลักษณะคล้ายๆ กันนี้ ในเหตุการณ์อื่นๆ ทั้งในการจราจรทางบก ทางน้ำ และทางอากาศให้เห็นอยู่เนืองๆ
ช่างสวนทางกับแนวนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของชาติที่กำลังฟูมฟักอย่างได้ที่ในเวลานี้.