สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ต.ค. 66

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ต.ค. 66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ต.ค. 66 ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง น้ำท่วม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ต.ค. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ ในช่วง 31 ต.ค.-1 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ในระยะแรก หลังจากนั้นฝนจะลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 30 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 5,346 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้

  • ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,050 ล้าน ลบ.ม. (77%)
  • ปริมาณน้ำใช้การ 38,883 ล้าน ลบ.ม. (67%)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่

เฝ้าระวังน้ำมาก 10 แห่ง

  • ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก และบึงบอระเพ็ด
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หนองหาร อุบลรัตน์ และลำปาว
  • ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
  • ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ 

ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
 

เฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง

  • ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
  • ภาคตะวันออก : คลองสียัด
  • ภาคตะวันตก : ปราณบุรี

โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ  3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่

น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  

น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง จ.อุทัยธานี ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ภาคใต้ จ.นราธิวาส

สถานการณ์อุทกภัย

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 จังหวัด (กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี) รวม 12 อำเภอ 62 ตำบล 111 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 449 ครัวเรือน ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง 
 

วานนี้ (30 ตุลาคม 2566) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมเวทีให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมเชียงคาน ริเวอร์เมาท์เทน รีสอร์ท จังหวัดเลย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมได้นำเสนอผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ประกอบด้วย

1. ผลการดำเนินงานตามกระบวนการ PNPCA โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี โดย นายธีรวัฒน์ สัมภวมานะ ผู้อำนวยการกองแผนงาน (MRCS) 

2. รายงานโครงการนำร่องการติดตามเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม (JEM) โดย ดร. ปิณิดา ลีลพนัง กำแพงทอง หัวหน้าด้านวิชาการ กองจัดการสิ่งแวดล้อม (MRCS) 

3. ท่านลำพอน ดีมะนีวง หัวหน้าแผนกบริหารจัดการน้ำ กรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว นำเสนอภาพรวมของการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี ได้แก่ โครงสร้างทางวิศวกรรม (ทางระบายน้ำล้น โรงไฟฟ้า ทางเรือผ่าน ทางผ่านปลา) ระเบียบการปฏิบัติงาน การบำรุงรักษาและการแจ้งเตือน และผลการดำเนินการของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี เรื่อง เส้นทางปลาผ่าน และการติดตามการอพยพของปลา รวมทั้งนำเสนอผลการดำเนินการของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี เรื่อง ระบบติดตามข้อมูลด้านอุทกวิทยา การติดตามการเคลื่อนตัวของตะกอนและการสำรวจท้องน้ำ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่บ้านศิลาเลข หมู่ที่ 6 ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เพื่อเร่งซ่อมแซมระบบประปาบาดาล ซ่อมเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ ตู้ควบคุม ท่อเมน พร้อมทั้งแนะนำวิธีการบำรุงรักษาให้กับผู้ดูแลระบบ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง