กรมอุตุฯ อัปเดตล่าสุด! ปีนี้เริ่มต้น 'ฤดูหนาว' ช้า คาดเลื่อนไปถึง 14-15 พ.ย.

กรมอุตุฯ อัปเดตล่าสุด! ปีนี้เริ่มต้น 'ฤดูหนาว' ช้า คาดเลื่อนไปถึง 14-15 พ.ย.

'กรมอุตุนิยมวิทยา' อัปเดตล่าสุด! เผยปีนี้เริ่มต้น 'ฤดูหนาว' ช้าไปเกือบ 1 เดือน ชี้อาจเลื่อนไปถึง 14-15 พ.ย.66 ขณะที่ 'พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน' มวลอากาศเย็นปกคลุมไทยตอนบน ทำให้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้

กรมอุตุนิยมวิทยา เผยปีนี้ 'ฤดูหนาว' มาช้า อาจจะเลื่อนไปในช่วงกลางเดือน พ.ย.66 พร้อม 'พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน' 10 วันล่วงหน้า (ระหว่างวันที่ 7-16 พ.ย.66) อัปเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) 

 

 

ปีนี้การ 'เริ่มต้นฤดูหนาว' มาช้า อาจจะเลื่อนไปในช่วงกลางเดือน พ.ย. (14 หรือ 15 พ.ย.) ช้าไปเกือบ 1 เดือน เนื่องจากระยะนี้ยังมีการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบน และอุณหภูมิต่ำสุดยังไม่ลดลง 

 

โดยช่วง 7-13 พ.ย.66 คาดว่ายังมีมวลอากาศเย็นแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นระลอกๆ แต่กำลังไม่แรง ลมหนาวที่พัดปกคลุมเบาบ้างแรงบ้าง อากาศยังเปลี่ยนแปลง ฝนยังเกิดขึ้นได้ช่วงแรกที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมา ส่วนใหญ่ยังเป็นฝน/ฝนฟ้าคะนอง อากาศยังเย็นลงไม่มาก ความชื้นสูง และยังมีลมตะวันออกพัดเข้ามาแทรกบางช่วง พี่น้องเกษตรกรที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องเฝ้าระวังฝนในระยะนี้ เช้าถึงบ่ายแดดพอมี เย็นๆอาจมีเมฆมาก และมีฝนรบกวน 

 

 

ส่วน 'ภาคใต้' ยังมีฝนต่อเนื่อง หนักเบาสลับกันไป โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.66 เป็นต้นไป จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวัง พี่น้องชาวเรือให้ระวังคลื่นลมแรงบริเวณที่ฝนฟ้าคะนอง 

 

ส่วนช่วงวันที่ 14-16 พ.ย.66 สัญญาณการเริ่มต้นฤดูหนาวเริ่มชัดขึ้น เตรียมวางแผนไปสัมผัสเย็นได้ โดยเฉพาะตามยอดดอย ยอดภู พื้นราบอากาศเย็น 

 

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)
 

กรมอุตุฯ อัปเดตล่าสุด! ปีนี้เริ่มต้น \'ฤดูหนาว\' ช้า คาดเลื่อนไปถึง 14-15 พ.ย.

 

สำหรับ 'พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า' ในช่วงวันที่ 8-11 พ.ย.66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง 

 

หลังจากนั้นในวันที่ 12-13 พ.ย.66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบน ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองมีฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 

 

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ตลอดช่วง 

 

ข้อควรระวัง : ในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย.66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

 

สถานการณ์แผ่นดินไหว ในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย.66 ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 3.8 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย และขนาด 4.8 มีศูนย์กลางอยู่ที่ตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด 

 

กรมอุตุฯ อัปเดตล่าสุด! ปีนี้เริ่มต้น \'ฤดูหนาว\' ช้า คาดเลื่อนไปถึง 14-15 พ.ย.