นายกฯวิศวกร แนะ กทม. ตรวจ 3 ประเด็น ฝาบ่อพักชั่วคราว
นายกสมาคมวิศวกรฯ แนะ 3 ประเด็นตรวจสอบ ฝาบ่อพักชั่วคราว ระบุ กทม. ต้องเร่งตรวจสอบความแข็งแรง-เสริมความแข็งแรง แจงหากไม่สามารถควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกเกินอาจซ้ำรอยเกิดเหตุอีก
จากเหตุการณ์ฝาบ่อพักชั่วคราวทรุดตัว ทำให้รถบรรทุก 10 ล้อตกลงไปในบ่อร้อยสายไฟ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายว่า เป็นการวิบัติของแผ่นคอนกรีตฝาบ่อที่นำมาวางบนบ่อพักท่อสายไฟ ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างชั่วคราว จะมีการยกเปิดออกเพื่อทำงานในช่วงกลางคืน และปิดฝาสำหรับการจราจรในช่วงกลางวัน
สำหรับข้อสันนิษฐานสาเหตุการวิบัติของฝาบ่อพัก เกิดจากคานเหล็กซึ่งเป็นโครงสร้างรองรับฝาบ่อวิบัติ โดยมีปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุได้ 3 ประเด็น ได้แก่
1.น้ำหนักรถบรรทุกที่มากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไว้ไม่เกิน 25 ตัน หากบรรทุกเกิน จะทำให้ถนนเกิดความเสียหายได้
2. โครงสร้างรองรับฝาบ่อ เป็นคานเหล็กตัวไอ และมีการใช้เหล็กข้ออ้อยทำเป็นตัวบั้ง (Stiffener) ข้างคาน ต้องตรวจสอบว่าคานเหล็กดังกล่าวรับน้ำหนักบรรทุกได้เท่าไร และการใช้เหล็กข้ออ้อยทำเป็นตัวบั้งติดข้างคาน เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่
และ 3. ข้อสุดท้ายตำแหน่งการวางในระหว่างปิด-เปิดฝาบ่อ และการขยับของฝาบ่อในขณะที่รถเคลื่อนที่ผ่าน อาจทำให้คานเหล็กเคลื่อนออกจากตำแหน่ง และทำให้ฝาบ่อสูญเสียจุดรองรับ และพังทรุดตัวตามลงมา
“บ่อพักลักษณะคล้ายๆกันนี้อีกหลายจุดในกทม. จึงควรเร่งตรวจสอบความแข็งแรงของฝาบ่อพักที่เหลือ และเสริมความแข็งแรงโครงสร้างรองรับฝาบ่อ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนคานเหล็กรองรับให้มากขึ้น และ เพิ่มขนาดของคานเหล็กให้ใหญ่ขึ้น และควรขยายความกว้างของแผ่นปีกคานเหล็กเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับฝาบ่อ รวมถึงการใช้แผ่นเหล็กปะกับทำเป็นแผ่นเหล็กตั้งข้างคาน”
นอกจากนี้ ศ.ดร.อมร ยังได้บอกอีกว่าควรกำหนดค่าอัตราส่วนความปลอดภัย (Factor of Safety) ในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้คำนึงถึงสภาพการใช้งานชั่วคราวที่ต้องยกปิดเปิด และที่สำคัญไม่ว่าจะออกแบบและก่อสร้างคานเหล็กไว้แข็งแรงเพียงใด หากไม่สามารถควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกตามกฎหมาย ก็มีโอกาสเกิดการพังทลายซ้ำได้อีก
“การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก และ การทำให้โครงสร้างได้มาตรฐานทางวิศวกรรม ตลอดจนการตรวจสอบเป็นระยะ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความปลอดภัยในการใช้ถนน”