ทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ปลอมเว็บตุ๋นโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้าน

ทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ปลอมเว็บตุ๋นโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้าน

บช.ก. - ปอท. แถลงผลเปิดปฏิบัติการทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ปลอมเว็บตุ๋นเหยื่อโอนเงิน พบมีเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้านบาท

วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2566) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) , พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ , พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก. , พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. , พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ปอท. , พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.2 บก.ปอท. , พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ และ พ.ต.ท.ธนะ ว่องทรง รอง ผกก.2 บก.ปอท. แถลงผลการเปิดปฏิบัติการทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ปลอมเว็บตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และเว็บไซต์อื่น โดยตรวจค้น 9 เป้าหมาย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร , นนทบุรี , สมุทรสาคร , เชียงราย , สุราษฎร์ธานี และสระแก้ว จับกุมผู้ต้องหาได้ 5 ราย พร้อมยึดของกลางและทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 83 ล้านบาท 

 

 

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ตรวจสอบพบ 'เว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม' โดยมีการเลียนแบบเว็บไซต์ของ บช.ก. แอบอ้างชื่อและใช้ตราสัญญาลักษณ์ของ บช.ก. รวมทั้งหน่วยงานภายใต้สังกัด บช.ก. และพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพได้ใช้วิธียิงแอดโฆษณาผ่านเว็บไซต์สืบค้นข้อมูล (Google Ads) ซึ่งเมื่อมีประชาชนค้นหาคำว่า 'แจ้งความออนไลน์' เว็บไซต์ปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นก็จะแสดงขึ้นมาให้เห็นเป็นลำดับแรกๆ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อทำการเพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ที่มีการระบุไว้ในภายเว็บไซต์ เพื่อให้ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่จะแจ้งความ กลุ่มคนร้ายก็จะสวมรอยเป็นแอดมินพูดคุยสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะทำทีให้ผู้เสียหายติดต่อพูดคุยกับบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นทนายความผ่านไลน์ โดยจะให้คำปรึกษาพร้อมทั้งให้ผู้เสียหายส่งหลักฐานเรื่องที่ต้องการแจ้งความไปให้ 

 

จากนั้นคนร้ายที่อ้างเป็นทนายความจะส่งเรื่องต่อไปยังฝ่าย IT โดย IT จะอ้างต่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และแจ้งกับผู้เสียหายว่าเงินที่ถูกโกงหรือถูกหลอกไปนั้นถูกนำไปฟอกในเว็บพนันนออนไลน์ต่างประเทศ ทั้งนี้กลุ่มคนร้ายยังมีการทำแผนผังเส้นทางการเงินส่งให้ผู้เสียหาย พร้อมแจ้งว่าสามารถนำเงินดังกล่าวมาคืนได้ โดยใช้วิธีการแฮกเว็บการพนันดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ คนร้ายจะให้ผู้เสียหายทำการสมัครสมาชิกและโอนเงินไปที่เว็บพนันดังกล่าว จากนั้นคนร้ายจะให้ผู้เสียหายเล่นการพนันตามที่คนร้ายบอก อ้างว่าเพื่อจะได้ทำการแฮกระบบเอาเงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย 

 

ทลาย \'แก๊งคอลเซ็นเตอร์\' ปลอมเว็บตุ๋นโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้าน

 

 

หลังจากคนร้ายอ้างว่าได้ทำการแฮกระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะปรากฏยอดเงินในบัญชีเว็บไซต์การพนันของผู้เสียหายเพิ่มขึ้น คนร้ายจะแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปเพิ่มเพื่อที่จะได้แฮกเงินคืนให้ได้มากกว่าเดิม แต่เมื่อผู้เสียหายจะถอนเงินออกมาก็ไม่สามารถถอนได้ จากนั้นคนร้ายจะบล็อกช่องทางการติดต่อของผู้เสียหายทันที 

 

ทั้งนี้พบว่าภายในระยะเวลา 15 วัน มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้กลุ่มคนร้ายมากกว่า 1,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ยังพบว่า 'เว็บไซต์ปลอม' ดังกล่าว มีการใช้ IP-Address ที่เป็นของผู้ให้บริการของประเทศกัมพูชา และมีการเช่าบริการเซิร์ฟเวอร์ (Server)ในประเทศไทย ทาง บก.ปอท. จึงได้ทำการตรวจค้นบริษัทที่ให้บริการเช่า เซิร์ฟเวอร์ (Server) ดังกล่าว พบฐานข้อมูลเว็บไซต์ที่ใช้และเคยใช้ในการฉ้อโกงออนไลน์ในลักษณะชักชวนให้ลงทุนและซื้อสินค้าจำนวนมาก รวมทั้งเว็บไซต์ที่ทำปลอม บช.ก. อีก 3 เว็บไซต์ 

 

โดยผู้ดูแลระบบใช้ IP-Address ที่เป็นของผู้ให้บริการของประเทศกัมพูชา เข้ามาแก้ไขข้อมูลต่างๆ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีการปลอมเว็บไซต์ทั้งหน่วยงานรัฐ , หน่วยงานเอกชน , องค์กรต่างๆ ที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงเว็บไซต์หลอกลงทุนต่างๆ รวมกว่า 133 เว็บไซต์ เช่น บช.ก. , DSI , ตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) 

 

ปัจจุบันพบเปิดใช้งานอยู่จำนวน 98 เว็บไซต์ เป็นเว็บพนันออนไลน์ 16 เว็บไซต์ , หลอกสั่งซื้อสินค้า 9 เว็บไซต์ , เว็บเงินกู้ 6 เว็บไซต์ , เว็บลงทุนคริปโต 6 เว็บไซต์ , เว็บสายการบินปลอม 3 เว็บไซต์ , ติดตั้งแอปหลอกลวง 3 เว็บไซต์ , เว็บหลอกสมัครงาน 1 เว็บไซต์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการปิดไปแล้วจำนวน 10 เว็บไซต์ 

 

ทลาย \'แก๊งคอลเซ็นเตอร์\' ปลอมเว็บตุ๋นโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้าน

 

ในส่วนของเส้นทางการเงิน กลุ่มคนร้ายจะใช้บัญชีม้าในการรับโอนเงินจากผู้เสียหาย แล้วถ่ายเทเงินไปยังบัญชีม้าแถวต่างๆ จากนั้นจะนำเงินที่ได้ไปซื้อเหรียญสกุลเงินดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆแล้วถ่ายเทไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลต่างๆ เพื่อเลี่ยงการถูกจับกุม ก่อนจะทำการส่งต่อไปยังกระเป๋าที่เป็นของกลุ่มคนร้ายที่เป็นระดับสั่งการหรือนายทุนต่อไป โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 จนถึงปัจจุบัน บัญชีม้าและกระเป๋าเงินดิจิทัลต่างๆ ในกลุ่มของคนร้ายมียอดเงินหมุนเวียนมากกว่า 7,000 ล้านบาท 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับคนร้ายในขบวนการ แบ่งเป็น กลุ่มพนักงาน , กลุ่มโปรแกรมเมอร์ , กลุ่มฟอกเงิน และกลุ่มระดับสั่งการหรือนายทุน จำนวน 12 ราย ประกอบด้วย คนไทย 8 ราย , คนกัมพูชา 1 ราย และคนจีน 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ นาย หง เว่ย เหลียง (สัญชาติจีน) ผู้ต้องหารายสำคัญ ที่เชื่อได้ว่าอยู่ในระดับนายทุนและเป็นเจ้าของเว็บไซต์ปลอมดังกล่าว หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา นายหง เว่ย เหลียง รับโอนเงินเข้ามายังบัญชีตัวเอง คิดเป็นเงินไทยประมาณ 175 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหากลุ่มบัญชีม้าอีก 5 รายมารับทราบข้อกล่าวหา 

 

ต่อมาวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. พร้อมด้วย กก.สสน.บก.ปอท. , บก.ป. , บก.ปอศ. , บก.ปคบ. จึงเปิดปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมเว็บตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกันตรวจค้น 9 เป้าหมาย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร , นนทบุรี , สมุทรสาคร , เชียงราย , สุราษฎร์ธานี และสระแก้ว จับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 5 ราย ในจำนวนนี้มี 4 รายที่ทำหน้าที่ในการฟอกเงิน ได้แก่ นายฉาง (สัญชาติจีน) และ น.ส.ฤดี ซึ่งเป็นคู่รักกัน , นายเอกณัฏฐ์ ที่ทำการฟอกเงินผ่านบัญชีคริปโตฯของนายเอกชัย และอีก 1 รายคือ นายวันดี (สัญชาติกัมพูชา) ทำหน้าที่เป็นผู้ทำปลอม เลียนแบบ เว็บไซต์ของ บช.ก. พร้อมทั้งดูแลระบบ และยิงแอดโฆษณา 

 

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการทำปลอมและเลียนแบบเว็บไซต์หน่วยงานราชการอีกกว่า 10 แห่ง ซึ่งในการเข้าตรวจค้นจับกุมครั้งนี้ได้ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สิน อาทิ คอมพิวเตอร์ , โทรศัพท์มือถือ , เงินสด , รถยนต์หรู , กระเป๋าแบรนด์เนม และเครื่องประดับต่างๆ รวมมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท 

 

ทลาย \'แก๊งคอลเซ็นเตอร์\' ปลอมเว็บตุ๋นโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้าน

 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบว่า นายเอกณัฏฐ์ หนึ่งในผู้ต้องหา อยู่ในขบวนการฟอกเงินอีกด้วย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้เพื่อดำเนินคดีกับนายเอกณัฏฐ์เพิ่มเติม พร้อมทั้งขยายผลตรวจยึดทรัพย์สินของนายเอกณัฏฐ์ อาทิ คอมพิวเตอร์ , เงินสด , โฉนดที่ดิน , Hardware Wallet , รถยนต์และรถจักรยานยนต์หรู และกระเป๋าแบรนด์เนม มูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาทเพิ่มเติมอีกด้วย 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย พร้อมของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ขณะที่ผู้ต้องหารายอื่นๆ รวมถึง นายหง เว่ย เหลียง นายทุนและเจ้าของเว็บไซต์ปลอม ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีอยู่ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด 

 

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้นให้การรับสารภาพ ขณะที่บางรายให้การภาคเสธ โดยนายเอกณัฏฐ์ให้การยอมรับว่าตนได้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของนายเอกชัย ในการรับโอนเหรียญคริปโตจริง แต่อ้างว่าเป็นเหรียญที่ลูกค้าโอนมาจ่ายในการเล่นพนันออนไลน์ 

 

ส่วน นายฉาง (สัญชาติจีน) ยอมรับว่าตนได้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของ น.ส.ฤดี (แฟนสาว) ในการรับเหรียญคริปโตฯจริง แต่เป็นการซื้อเหรียญจากคนจีนที่อยู่ในประเทศกัมพูชา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การของผู้ต้องหาแต่อย่างใด 


 
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเครือข่ายดังกล่าวพบว่ามีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับเว็บพนันเว็บไซต์หนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มเครือข่ายของสารวัตรซัว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลตรวจสอบอย่างละเอียด 

 

ทลาย \'แก๊งคอลเซ็นเตอร์\' ปลอมเว็บตุ๋นโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้าน