ธนกฤต ยื่นหนังสือ เสี่ยแป้ง ให้ 3 หน่วยงาน แนะมอบตัวสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
'ดร.ธนกฤต' เดินสายยื่นหนังสือของ 'เสี่ยแป้ง' ให้ 3 หน่วยงาน แนะมอบตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้าน ก.ยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคดีเสี่ยแป้งแล้ว
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ดร.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ เดินทางเข้าไปยื่นจดหมายของ นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ 'เสี่ยแป้ง' ถึงพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายสมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นตัวแทนกระทรวงยุติธรรมรับมอบหนังสือ
หลังนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ 'เสี่ยแป้ง นาโหนด' ได้ส่งเรื่องขอความเป็นธรรมผ่านทนายความ ไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ และนายธนกฤต จิตอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี
โดย นายธนกฤต กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของนายเชาวลิต หรือ นายแป้ง เพราะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวข้องกับเรือนจำกลางพัทลุง และเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช คือ 1.มีผู้ต้องขัง 393 ราย ร้องเรียนว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกรับเงิน 2.ประเด็นสินค้ามีราคาแพงกว่าปกติ และ 3.การที่มีผู้ต้องขัง 2 ราย ที่เรือนจำนครศรีธรรมราช ถูกลงโทษทำร้าย ซึ่งทั้งหมดต้องมีการตรวจสอบว่าจริงหรือไม่
โดยตนยืนยันว่าในส่วนการดำเนินการวันนี้อยู่ในข้อร้อง 7 ข้อที่นายแป้งได้ยื่นมา ตนสามารถดำเนินการให้ได้ 6 ข้อ ยกเว้นข้อ 1 ที่ไม่สามารถไปแทรกแซงได้ ซึ่งตอนนี้คดีของนายแป้งนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีนักโทษเด็ดขาดหลบหนีและร้องขอความเป็นธรรม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมราชทัณฑ์ ปปส. และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นคณะกรรมการร่วม
ขณะที่ นายสมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า ทั้ง 3 ประเด็นที่นายแป้งได้ร้องเรียนมา เรือนจำแรก คือ เรือนจำพัทลุง มีการร้องเรียนว่ามีการขายสินค้าราคาแพง ยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์มีระเบียบและขั้นตอนการจำหน่ายสินค้าสวัสดิการให้กับผู้ต้องขัง จะต้องไม่ขายเกินราคาท้องตลาด และต้องมีการเปรียบเทียบราคาคู่ค้าระหว่างเรือนจำใกล้เคียงทุก 3 เดือน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะได้มีการตรวจสอบมีการจำหน่ายสินค้าราคาแพงจริงหรือไม่อย่างไร หากมีการกระทำจริงก็ถือว่าผิดระเบียบของกรมราชทัณฑ์
ส่วนเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช กรณีประเด็น 393 คนที่ลงรายชื่อว่ามีการรีดไถของตำรวจ กรมราชทัณฑ์จะลงไปสืบข้อเท็จจริงเช่นกันว่ามีข้อเท็จจริงและที่ไปที่มาอย่างไร และมีใครบ้างที่ร่วมลงชื่อ ส่วนอีก 2 ราย ที่มีการระบุว่าถูกทำร้ายร่างกายนั้น กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าได้มีการปรับปรุงและกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ไม่มีการทรมานหรือทำร้ายผู้ต้องขังและที่ผ่านมามีการเข้าไปตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งหลังจากได้รับเรื่อง จะมีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
นายธนกฤต ยังชี้แจงต่อว่า ก่อนหน้านี้ในเรื่องของราคาสินค้าแพงในเรือนจำพัทลุงนั้น กรมราชทัณฑ์เคยตรวจสอบในสมัยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอนนั้นเป็นเรื่องของอาหาร พบว่ามีราคาที่แตกต่างกันอยู่ 1 บาท แต่หลังจากที่ได้รับการร้องเรียนในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ มีการร้องเรียนมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งรัฐมนตรีสมศักดิ์พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 5 วัน จึงต้องมีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง
ส่วนประเด็นการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยตนจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเอง นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์จะต้องดูแลความปลอดภัยของทั้ง 393 คนที่ลงรายชื่อร้องเรียน หากใครที่พ้นจากการถูกคุมขังแล้วก็จะประสานกรมคุ้มครองสิทธิ์ให้ดำเนินการเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน เพื่อความปลอดภัยของบุคคลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ นายธนกฤต อธิบายว่า หนังสือร้องเรียนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก 1 ฉบับเป็นของผู้ต้องขัง 1 ราย ที่นายแป้งลงชื่อเป็นพยาน โดยร้องเรียนเรื่องการถูกเรียกรับเงินของผู้ต้องขังในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช 393 ราย
ส่วนอีกชุด มี 2 ฉบับ เป็นของนายแป้งที่เป็นคนร้องเรียนเอง ฉบับแรกอยู่ในประเด็น 1 ใน 7 ข้อ ตามที่สื่อมวลชนทราบ ส่วนอีกฉบับเป็นหนังสือร้องเรียนไปถึงกรมราชทัณฑ์ ซึ่งก็อยู่ในประเด็น 1 ใน 7 ข้อด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ขอยืนยันว่าตนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ ไม่ได้รู้จักนายแป้ง หรือ เสี่ยแป้ง และไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของใคร ตนทำตามสิ่งที่รับการร้องขอ ไม่มีเกินไปกว่านั้น การที่ออกมาช่วยดำเนินการเรื่องนี้ เพราะต้องการกระชับเวลาให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกิดการตัดสินใจ เพื่อให้เรื่องนี้กระจ่างและจบ ซึ่งตนมั่นใจว่านายแป้งกำลังติดตามข่าวที่ออกมาอย่างใกล้ชิด ย้ำว่าเรื่องนี้ตนไม่ก้าวล่วงดุลยพินิจของศาล หากนายแป้งต้องการจะขอประกันตัวก็ต้องเข้ามามอบตัวก่อน
ขณะที่ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ในส่วนของคดีนี้หากมีการส่งเรื่องมาให้ DSI ก็พร้อมที่จะตั้งคณะทำงานเข้าไปช่วยตรวจสอบ และพร้อมเข้าไปคุ้มครองและดูแลความปลอดภัยหากมีการเข้ามอบตัว