เปิด 10 อันดับ 'ข่าวปลอม' ยอดฮิต ประจำปี 2566
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปิด 10 อันดับ 'ข่าวปลอม' ยอดฮิตประจำปี 2566 มาแรงอันดับ 1 เอาน้ำมันพืชทาแขนตรวจหามะเร็ง
วันนี้ (4 มกราคม 2567) เพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand หรือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้เปิด 10 อันดับ 'ข่าวปลอม' ยอดฮิต! ประจำปี 2566
โดย 10 อันดับข่าวปลอม ยอดฮิต ประจำปี 2566 มีดังนี้
1. ข่าวปลอม วิธีการตรวจมะเร็งง่าย ๆ โดยการเอาน้ำมันพืชมาทาแขน แล้วเอาเล็บขูด ๆ เกา ๆ
จากที่มีผู้แชร์ขั้นตอนข้างต้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า วิธีเอาน้ำมันพืชมาทาแขน แล้วเอาเล็บขูด ๆ เกา ๆ ไม่สามารถตรวจหามะเร็งได้ เนื่องจากการตรวจคัดกรองมะเร็งแต่ละชนิดมีวิธีการที่แตกต่างกัน
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/xvpNK
2. ข่าวปลอม ผู้ที่เป็นโรคไมเกรน เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตกมากกว่าคนปกติถึง 46%
กรณีที่มีผู้โพสต์และแชร์ข้อมูลในสื่อออนไลน์ว่า ผู้ที่เป็นโรคไมเกรน เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตกมากกว่าคนปกติถึง 46% ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เนื้อหาข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบันบอกถึงไมเกรนว่าจะเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองแตกตามที่กล่าวอ้าง
อ่านเพิ่มเติมที่ https://shorturl.asia/nZFas
3. ข่าวปลอม เป็นตะคริวบ่อยจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
จากคำแนะนำดังกล่าว ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า ตะคริวเป็นโรคของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทส่วนปลาย ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดโดยเฉพาะและไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองที่จะเป็นเหตุให้กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/pVDYo
4. ข่าวปลอม ออมสินให้ลงทุนกองทุนรวม SSF พิเศษ พร้อมรับสลากออมสินดิจิทัลเมื่อเปิดบัญชี ผ่านเพจซื้อขายกองทุน-หุ้นไทย
กรณีที่มีโฆษณาชวนเชื่อข้างต้น ทางธนาคารออมสิน กระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า เพจเฟซบุ๊กดังกล่าว ไม่ใช่เพจของธนาคารออมสินและไม่มีความเกี่ยวข้องกับธนาคารออมสิน ธนาคารออมสินไม่มีนโยบายให้ลงทุนผ่านเฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันไลน์ และ Messenger
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/cBqdx
5. ข่าวปลอม ชวนร่วมลงทุน CPALL เริ่ม 1,000 บาท รับ 390 ต่อวัน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก
จากที่มีการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ชี้แจงว่า เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นเพจที่ถูกสร้างขึ้นโดยมิจฉาชีพ มีการแอบอ้างใช้โลโก้ ก.ล.ต. โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้าน ก.ล.ต. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณา รวมทั้งไม่มีการเปิดให้ลงทุนใด ๆ ทั้งสิ้น
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/efnGp
6. ข่าวปลอม กฟภ. SMS แจ้งการจดตัวเลขมิเตอร์ผิด ทำให้ระบบยืนยันการชำระค่าไฟไม่สำเร็จ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ผ่านลิงก์
กรณีที่มีการส่ง SMS ข้างต้น ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่มีนโยบายแนบลิงก์ไปกับ SMS เพื่อแจ้งเตือนการจดเลขมิเตอร์ผิด ทำให้ระบบยืนยันการชำระค่าไฟไม่สำเร็จ และให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ผ่านลิงก์แต่อย่างใด หากมีข้อสงสัย สอบถามผ่าน 1129 PEA Contact Center หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/seZZD
7. ข่าวปลอม กลุ่มเปราะบางทั้งประเทศรับเงินเยียวยาคนละ 3,000 บาท โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องกลุ่มเปราะบางทั้งประเทศรับเงินเยียวยาคนละ 3,000 บาท โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/hPYrz
8. ข่าวปลอม คลอรีนในน้ำประปาเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกความร้อน
จากข้อมูลข้างต้น ทางการประปานครหลวง กระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงว่า กปน. มีการควบคุมระบบเติมคลอรีนอย่างเหมาะสม ซึ่งจากการทดลองนำน้ำประปาไปต้มแล้วตรวจสอบสารปนเปื้อนพบว่า คลอรีนในน้ำประปามีความปลอดภัย สามารถนำมาหุง ต้มได้ ไม่ก่อให้เกิดสารมะเร็งแน่นอน
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/Dppyn
9. ข่าวปลอม ก.ล.ต. เปิดกองทุนรวมทองฮั่วเซ่งเฮง เปิดพอร์ตกับฮั่วเซ่งเฮง เริ่มต้น 1,000 บาท รับปันผล 3-20%
จากที่มีการเชิญชวนข้างต้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลการลงทุนข้างต้นเป็นการให้ข้อมูลลงทุนโดยมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างนำโลโก้ของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทาง ก.ล.ต. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้มีการเปิดกองทุนรวมทองดังกล่าวแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/ewEni
10. ข่าวปลอม รพ. กรุงเทพ เปิดให้นักลงทุนสามารถวางแผนลงทุนอนาคตของตัวเองได้ ราคาเปิดพอร์ต 999 บาท รับปันผล 390 บาท/วัน
จากที่มีการชวนลงทุนข้างต้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ชี้แจงว่า ก.ล.ต. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดให้นักลงทุนมาร่วมลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลข้างต้นเป็นการให้ข้อมูลลงทุนโดยแอบอ้างใช้โลโก้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต
อ่านเพิ่มเติมที่ https://1th.me/GWCtM