วิกฤต! โคราช เตือนทุกอำเภอเฝ้าระวัง โควิด หลังพบติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 91 ราย
รอง นพ.สสจ.นครราชสีมา เผย พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในรอบสัปดาห์ ตั้งแต่ 6-12 ม.ค.67 จำนวน 643 คน หรือเฉลี่ยวันละ 91 คน สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (14 ม.ค.) นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การบริหารของ นพ.สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อโควิด - 19 มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเปลี่ยนมาเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอยู่
จากการรายงานล่าสุด พบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 6 - 12 มกราคม 2567 จำนวน 643 คน หรือเฉลี่ยวันละ 91 คน ซึ่งในจำนวนนี้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 53 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 12 มกราคม 2567 มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 33,966 คน เสียชีวิตสะสม 76 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยสะสม ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 1,511 คน โดยรักษาหายแล้ว 1,395 คน ยังเหลือที่ต้องยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อีก 46 คน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาด อยู่ในเกณฑ์รุนแรงน้อย มีบุคลากรดูแล มีเตียงไว้รองรับผู้ป่วยเพียงพอ ปัจจุบันจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด - 19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล มีอยู่ 1,081 เตียง มีผู้ป่วยอาการรุนแรง ระดับสีแดง ครองเตียงอยู่ 26 เตียง ในขณะที่ยาต้านไวรัสแต่ละชนิด และ Long Acting Antibody มีในสต๊อกเพียงพอ ซึ่งมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมการระบาดของโรค ยังต้องใช้มาตรการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่มเสี่ยง สามารถฉีดควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เลย
ส่วนประชาชนทั่วไป ควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง ตรวจ ATK ด้วยตนเองเมื่อมีอาการ และสถานประกอบการ ยังคงต้องใช้มาตรการ COVID Free Setting
นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มพิเศษ เช่น แรงงานต่างด้าว เรือนจำ โรงเรียน และเตรียมพร้อมมาตรการรักษาพยาบาลให้เพียงพอตามมาตรฐาน พัฒนาระบบการเข้าถึงยารักษาโควิด - 19 ของประชาชน
ส่วนกรณีสายพันธุ์ที่กรมควบคุมโรค ตรวจพบขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเป็นเชื้อที่กลายพันธุ์มาจากโอมิครอน ซึ่งเป็นเชื้อที่แพร่ระบาดแล้ว ทำให้ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม แต่ทำให้มีอาการรุนแรงน้อย ยังสามารถใช้มาตรการป้องกันแบบเดิมได้ และจากการสุ่มตรวจเชื้อของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการผิดปกติแต่ละราย ก็ยังไม่พบสายพันธุ์ JN.1 ในพื้นที่ และตอนนี้แนวโน้มการแพร่ระบาดยังทรงตัว อาการป่วยรุนแรงน้อยลง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยง 608 จำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ผู้ดูแลต้องพากลุ่มเสี่ยงไปฉีดวัคซีนป้องกัน ส่วนประชาชนทั่วไป ก็ควรร่วมด้วยช่วยกัน โดยการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกัน ก็จะช่วยไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้