ส่องโฉนดเพื่อการเกษตร กับคำถามโอนสิทธิ เปลี่ยนมือ ขายได้ไหม?
ส่องโฉนดเพื่อการเกษตร กับคำถามโอนสิทธิ เปลี่ยนมือ ขายได้ไหม? หลังรัฐบาลกดปุ่มคิกออฟ มอบโฉนดที่ดินทั่วประเทศแล้วกว่า 25,000 ราย
ภายหลังจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ คิกออฟ Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นของขวัญ เพิ่มสุขปีใหม่ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ในวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนำร่องก่อน 25,000 ราย พร้อมกันทั่วประเทศ
พามาส่องรายละเอียดการเปลี่ยนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็น "โฉนดเพื่อการเกษตร" ว่ามีสิทธิประโยชน์ด้านใดบ้าง?
- เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนด
- เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธ.ก.ส. หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น
- สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ (โฉนดต้นไม้) และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ อบก.
- ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ
การเปลี่ยนเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน จาก ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อขยายสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นที่ยอมรับเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
เรื่องทำโฉนดต้นไม้ในเขต ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิสำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพาราที่ปลูกบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ โดยจะมีการดำเนินโครงการหลังจากเสร็จสิ้นการมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01
โดย ส.ป.ก. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการโครงการส่งความสุขปีใหม่ เพื่อมอบของขวัญให้แก่เกษตรกร อีกทั้งช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้และลดรายจ่ายครัวเรือนให้กับเกษตรกรและประชาชน ตลอดจนเพื่อส่งมอบความสุขจากรัฐสู่ประชาชน