เปิดโฉม 'โฉนดครุฑเขียว' เศรษฐา นำร่องแจก 15 ม.ค.นี้ 25,000 ฉบับ
โฉนดเพื่อการเกษตร หรือ โฉนดครุฑเขียว ความหวังของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือกลุ่มที่ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 401 จะได้รับการแปลงโฉม 25,000 ฉบับ พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ "เศรษฐา" ส่งสารถึงเกษตรกรทั่วประเทศผ่านวิดีโอ
นโยบายการเปลี่ยนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรซึ่งเป็นเป้าหมายในการปรับปรุงและพัฒนาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายดังกล่าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
รัฐบาลจะ Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นของขวัญ เพิ่มสุขปีใหม่ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ในวันที่ 15 ม.ค.2567 จะนำร่องก่อน 25,000 ราย พร้อมกันทั่วประเทศ โดยภายในงานนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่งสารถึงเกษตรกรทั่วประเทศผ่านวีดีโอ
การมอบครั้งนี้จัดขึ้นที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สำหรับส่วนภูมิภาคกำหนดจัดงาน ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชในแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ การเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรดังกล่าวจะอนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีกว่า 22 ล้านไร่ พร้อมที่จะปรับเป็นโฉนดทั้งหมด แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการถือครองที่ดินอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งทยอยขึ้นทะเบียน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบถึงการทำต่อเนื่อง เชื่อว่าในช่วง 10 ปีนี้ ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 นั้นจะกลายเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรทั้งหมด โดยการขึ้นทะเบียน กำหนดการถือครองไม่เกิน 50 ไร่ และกำหนดเพื่อกิจกรรมเพื่อการเกษตรเท่านั้นจะควบคุมไม่ให้เกิดการถือครองโดยนอมินี
5 สิทธิประโยชน์ โฉนดเพื่อการเกษตร
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย
1.เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ และได้รับค่าชดเชยหากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนดได้
2.เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ โฉนดที่ดินสามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์
นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น
3.สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4.การสร้างรายได้ให้เกษตร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ หรือโฉนดต้นไม้ และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
5.ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ
“การเปลี่ยนเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน จาก ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อขยายสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นที่ยอมรับเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น"
ครุฑเขียว แสดงการถือครองเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า โฉนดเพื่อการเกษตร จะมีรูปร่างลักษณะ และสิทธิประโยชน์เทียบเท่าโฉนดของกระทรวงมหาดไทย ต่างกันตรงตราครุฑจะเป็นสีเขียว ไม่ใช่ครุฑแดง
ทั้งนี้เพื่อแสดงให้รู้ว่าผู้ที่รับไปจะสามารถใช้ประโยชน์เฉพาะการเกษตรเท่านั้น อีกทั้งจะได้รับสิทธิ์การส่งเสริมสนับสนุนจาก ส.ป.ก. เป็นสำคัญเป็นตราครุฑ ที่มีคุณค่าแก่การรักษาไว้ซึ่งการเกษตร
อัดงบ 86 ล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ส.ป.ก.มีโครงการส่งเสริมในเขตปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในการ คณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้อนุมัติโครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการต่างๆ ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างระบบประปาบาดาลพร้อมระบบสูบน้ำโซล่าร์เซลล์และหอถังสูงทรงแชมเปญเพื่อการอุปโภคบริโภค ในแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 แปลงที่ดินบริษัท เขาพนมแพลนเตชั่น จำกัด ตำบลเขาพนม อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ จำนวน 3 แห่ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,600,880 บาท (เจ็ดล้านหกแสนแปดร้อยแปดสิบบาทถ้วน)
2.โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หลักสูตร การบริหารสินเชื่อโดยการยกระดับสมรรถนะการวิเคราะห์สินเชื่อรายย่อยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นงบดำเนินงาน จำนวนเงินทั้งสิ้น 688,000 บาท (หกแสนแปดหมื่นแปดพันบาทถ้วน)
3.โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นงบดำเนินงาน จำนวนทั้งสิ้น 4,990,240 บาท (สี่ล้านเก้าแสนเก้าหมื่นสองร้อยสี่สิบบาทถ้วน)
4.โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร กิจกรรมตรวจรับรองสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรฐาน GAP ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นงบดำเนินงาน จำนวนทั้งสิ้น 2,379,400 บาท (สองล้านสามแสนเจ็ดหมื่นเก้าพันสี่ร้อยบาทถ้วน)
5.โครงการพัฒนาผู้แทนเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นงบดำเนินงานจำนวนทั้งสิ้น 3,669,760 บาท (สามล้านหกแสนหกหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยหกสิบบาทถ้วน)
6.โครงการส่งเสริมและขยายพันธุ์พืชในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนเงินทั้งสิ้น 229,400 บาท (สองแสนสองหมื่นเก้าพันสี่ร้อยบาทถ้วน)
7.โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องในเขตปฏิรูปที่ดิน (Smart Farmer) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นงบดำเนินงาน จำนวนเงินทั้งสิ้น 16,914,500 บาท (สิบหกล้านเก้าแสนหนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน)
8.โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนทั้งสิ้น 23,600,000 บาท (ยี่สิบสามล้านหกแสนบาทถ้วน)
9.โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กิจกรรมพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนเงินทั้งสิ้น 5,957,738 บาท (ห้าล้านเก้าแสนห้าหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยสามสิบแปดบาทถ้วน)
10.โครงการสำรวจรังวัดแผนที่แปลงที่ดินตามมาตรฐาน RTK GNSS NETWORK ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นงบดำเนินงาน จำนวนเงินทั้งสิ้น 21,875,000 บาท (ยี่สิบเอ็ดล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
“ทั้งนี้หลังจากการอนุมัติงบประมาณแล้ว ส.ป.ก. จะเร่งดำเนินการโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้รับการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และยกระดับ ความเป็นอยู่"
อีกทั้งยังได้รับความสะดวกในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการในด้านต่างๆ อาทิ ระบบประปาบาดาล โครงการพัฒนาบุคลากร โครงการส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เกษตรกรในเขตปฏิรูป ก็จะมีความสุข บนผืนดิน ส.ป.ก. ตลอดไป