สิ้นแล้ว 'พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม' อดีตตำรวจนักประวัติศาสตร์ชายแดนใต้
อาลัย 'พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม' อดีตตำรวจนักประวัติศาสตร์แห่งชายแดนใต้ เสียชีวิตแล้วอย่างสงบด้วยโรคประจำตัว
วันที่ 26 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อารีฟิน บินจิ อัล-ฟาตอนี หรือ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเคยประจำอยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 08.40 น. ด้วยโรคประจำตัว
พล.ต.ต.จำรูญ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อรักษาอาการป่วยราว 2-3 ปีก่อนหน้านี้ โดยอยู่ในการดูแลของครอบครัวอย่างใกล้ชิด สมาชิกในครอบครัวและญาติเตรียมนำร่างของ พล.ต.ต.จำรูญ ไปทำพิธีทางศาสนาที่กุโบร์โต๊ะอาเยาะห์ อ.เมือง จ.ปัตตานี
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม หรือที่รู้จักกันในนาม 'กูเป็ง' เป็นน้องชายของ พล.อ.ณรงค์ เด่นอุดม อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งสืบเชื้อสาย สุลต่านฟาฏอนี (ราญาฟาฏอนี) เป็นลูกหลานของ 'ตึงกูลามีเด็น' อดีตราญาปาตานี ดารุสลาม
ภายหลังเกษียณจากราชการตำรวจ พล.ต.ต.จำรูญ ได้ผันตัวมาเป็นนักเขียนด้านประวัติศาสตร์ มีผลงานมากมาย เช่น เบร ญิฮาด ดี ปาตานี, ปาตานีดารุสลาม, ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองโลกมลายู และอื่นๆ อีกหลายเล่ม
ทั้งนี้ พล.ต.ต.จำรูญ ยังตั้งมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามในภาคใต้ โดยนั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง และเคยร่วมผลักดันให้มีสถานีโทรทัศน์ภาษามลายูในพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ยังมีผลงานการเขียนด้านประวัติศาสตร์มากมายแล้ว พล.ต.ต.จำรูญ ยังได้ชื่อว่าเป็นนักสันติภาพ และมีบทบาทในการสร้างสันติสุข ลดเงื่อนไขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยครั้งหนึ่ง พล.ต.ต.จำรูญ เคยเสนอให้มีการแยกงานสอบสวนออกจากมือตำรวจ เพราะหลายคดีผู้กระทำผิดกับผู้สอบสวนมีสีเดียวกัน โดยเฉพาะเจ้าตัวเคยยกตัวอย่าง กรณีตากใบ (โศกนาฏกรรมใหญ่ครั้งหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตถึง 85 ศพ เมื่อ 25 ต.ค.47) อ้างว่าชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำ แต่ผู้สอบสวนกับผู้กระทำเป็นตำรวจด้วยกัน จึงมีการช่วยกัน จึงเสนอให้แยกงานสอบสวนไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ ถ่วงดุลอำนาจกัน จึงจะเกิดความเป็นธรรม
บทบาทของ พล.ต.ต.จำรูญ ในเรื่องนี้ก็เป็นความจริง เพราะปัจจุบันคดีตากใบยังไม่มีความคืบหน้า ยังหาผู้รับผิดชอบซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นต้นเหตุให้มีการเสียชีวิตถึง 85 ศพไม่ได้ ทั้งๆ ที่จะขาดอายุความในเดือน ต.ค.ปีนี้แล้ว เพราะครบ 20 ปี