กอนช. ถอดบทเรียนน้ำท่วม-ดินโคลนถล่มภาคใต้ รับมือฤดูฝนปีถัดไป
กอนช. ผสานหน่วยงาน-เครือข่ายในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มภาคใต้ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค พัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงาน พร้อมปรับปรุงแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปีถัดไปให้มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (30 ม.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้
ของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม กองทัพไทย กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ เครือข่ายอาสาสมัคร และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ตามที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ ศอ.บต. จ.ยะลา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการเร่งแก้ไขและบรรเทาผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งทุกหน่วยได้ร่วมกันบูรณาการติดตาม คาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ รวมทั้งขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วงอุทกภัยภาคใต้ที่ผ่านมาสามารถบริหารจัดการน้ำได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี อีกทั้งในพื้นที่มีเครือข่ายและอาสาสมัครจากภาคประชาชนที่เข็มแข็ง ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ ในการประสานข้อมูล แจ้งพื้นที่ประสบภัย และแจ้งเตือนสถานการณ์ต่างๆ ให้กับประชาชน ทำให้ข้อมูลจากศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ สามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยได้อย่างทันสถานการณ์ แม้จะลดผลกระทบและบรรเทาความเสียหายได้ แต่พบว่ายังคงมีปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน จึงต้องมีการสรุปทบทวนและประเมินผล เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนาให้การดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนถัดไป ให้เกิดความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงในช่วงวันที่ 24-27 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาอุทกภัยใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ตรัง 1 อำเภอ, จ.พัทลุง 3 อำเภอ และ จ.นราธิวาส 3 อำเภอ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนหัวสะพานและชุมชนท่าชมพู่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่อาจทำให้เกิดน้ำเน่าเสียได้ รวมทั้งยังมีขยะติดขวางเครื่องสูบน้ำ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเร่งระบายน้ำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยกำจัดขยะที่ขวางทางน้ำและเร่งสูบระบายน้ำ เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 4 ก.พ. 67 ในพื้นที่ภาคใต้จะยังคงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยถึงปานกลางในบางแห่ง ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และกำลังพล เพื่อพร้อมเข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยได้ทันท่วงที โดยในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค. 67) จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณายุติการดำเนินการของศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ ต่อไป