จับแล้ว นัฐกฤต-ภานิดา ผัวเมียเปิดเพจเฟซบุ๊ก หลอกผลิตสินค้า เผยเหยื่ออื้อ
สืบนครบาล จับแล้ว นัฐกฤต-ภานิดา 2 ผัวเมีย หลอกเปิดศูนย์กระจายสินค้าทิพย์ และรับฝากขายสินค้าคิดเงินรายเดือน สูญทั้งเงินทั้งสินค้า ผู้เสียหายกว่า 40 ราย
กรณีตำรวจสืบฯนครบาล จับกุม นายนัฐกฤต กับ น.ส.ภานิดา สองคนผัวเมียเปิดเพจเฟซบุ๊ก โพสต์ว่ารับผลิตสินค้าและเป็นศูนย์กระจายสินค้าพวกเครื่องสำอางมีร้านค้าในเครือกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ และมีสาขาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยมีการจดทะเบียนบริษัทถูกต้องที่การจ้างพนักงานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ลงทุนจ้างยิงแอดโฆษณาทางสื่อออนไลน์
เมื่อมีผู้เสียหายติดต่อมาก็จะเสียค่าฝากวางสินค้าขายเป็นรายเดือนหลักหมื่น และให้ส่งสินค้าให้ไปจำหน่าย บางรายไม่มีสินค้าก็จะรับจ้างผลิตสร้างแบรนด์ให้ด้วย เมื่อผู้เสียหายจ่ายค่าวางสินค้าหรือโอนเงินค่าจ้างผลิต สุดท้ายสูญทั้งเงินสูญทั้งสินค้า ถ้าผู้เสียหายรายใดไปโพสต์ประจานในเพจก็จะข่มขู่จะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ. คอมฯ
มีการจ้างทนายประจำบริษัทด้วยเพื่อช่วยเรื่องคดี ถ้าโดนผู้เสียหายฟ้องร้อง มีผู้เสียหายเยอะมูลค่าความเสียหายจำนวนมากและยังมีหมายจับติดตัว 3 หมายจับ
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. เมื่อเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนจากการรายงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จึงสั่งการให้ พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. เร่งรัดรีบทำการสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัว บุคคลตามหมายจับที่เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพ เอาเป็นเครื่องมือใช้กระทำความผิดทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หลอกฝากขายสินค้าในโซเชียล
ต่อมา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เจ้าหน้าที่สืบนครบาล ได้ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุม
1.นายนัฐกฤต อายุ 34 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ 388/2566 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2566 ซึ่งต้องหาว่า "ฉ้อโกง,พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์" และตรวจสอบหมายจับในระบบยังมีหมายจับอีก1หมายคือหมายจับของศาลอาญามีนบุรีที่1277 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2566 ต้องหาว่า "ฉ้อโกง"
2.น.ส.ภานิดา อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ 387/2566 กระทำความผิดฐาน "ฉ้อโกง,พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์"
พฤติการณ์ คือ ผู้เสียหายได้ถูกมิจฉาชีพหลอก อ้างเป็นเจ้าของศูนย์กระจายสินค้าและรับฝากขายสินค้ารวมทั้งรับผลิตสร้างแบรนด์สินค้าพวกเครื่องสำอางมีการเก็บเงินค่าฝากขายเป็นรายเดือน เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อว่าผู้ต้องหามีการเปิดบริษัทและมีการขายสินค้าได้จริงได้จ่ายเงินล่วงหน้าค่าฝากขายจำนวนหลักหมื่นและมีการส่งสินค้าให้แก่ผู้ต้องหามูลค่าหลักแสนจนถึงหลักล้าน
บางคนก็โอนเงินค่าผลิตสินค้าให้แก่ผู้ต้องหาจำนวนมาก สุดท้ายไม่ได้รับสินค้าและสินค้าที่บางรายเอาไปฝากขายก็ไม่ได้เงินคืนสูญทั้งเงินสูญทั้งสินค้า ถ้ามีผู้เสียหายรายใดที่ติดตามทวงหรือจะฟ้องร้องก็จะเจรจาขอคืนสินค้าซึ่งสินค้าใกล้จะหมดอายุทำให้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก หรือถ้ามีใครไปโพสต์หน้าเพจของผู้ต้องหาก็จะข่มขู่ว่าจะให้ทนายประจำบริษัทฟ้องดำเนินคดีทำให้ผู้เสียหายกลัว ไม่กล้าไปโพสต์ประจาน
โดยในชั้นจับกุม นายนัฐกฤตและน.ส.ภานิดาได้ให้การภาคเสธไม่ได้หลอกผู้เสียหายโดยอ้างว่าบริษัทของตัวเองทำถูกต้องตามกฎหมายแต่มีปัญหาช่วงโควิดและมีผู้เสียหายบางคนเข้าใจผิดไปฟ้องร้องพวกตนแต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปักใจเชื่อแต่อย่างใด
ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวแจ้งเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนว่า ในสังคมปัจจุบัน มิจฉาชีพมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงมากมายหลายรูปแบบ ขอให้ประชาชนได้โปรดใช้สติในการใช้ชีวิตในสังคม อย่าหลงเชื่อกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพซึ่งมีอยู่มากมาย
อีกทั้งแจ้งเตือนให้ระมัดระวังการฝากขายสินค้าหรือสั่งผลิตสินค้าต้องได้เห็นบริษัทหรือโรงงานจริง และบริษัทมีการดำเนินธุรกิจจริงไม่ใช่ติดต่อกันทางโซเชียลแล้วก็ตกลงจ่ายเงินหรือโอนเงินให้เลย หรือแม้แต่การทำสัญญาต่างๆแต่ไม่เคยได้เจอตัวเจ้าของแม้แต่ครั้งเดียว การซื้อขายทางออนไลน์ต้องมีร้านที่เชื่อถือได้เพื่อป้องกันการหลอกฝากขายสินค้า
และถ้าสงสัยว่าบุคคลที่เข้ามาเสนอผลประโยชน์ นั้นจะเป็นมิจฉาชีพ หรือไม่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด มายังเพจ “สืบนครบาลIDMB” ได้ตลอด 24 ชม. แม้จะเป็นคดีที่มีความเสียหายไม่มาก แต่หากเป็นคดีที่ประชาชนเดือดร้อนทำทันที
อ้างอิง - นครบาล