GISTDA ชี้ จุดความร้อนของไทย พุ่งแซงเพื่อนบ้าน เช็ก 9 จว.เสี่ยงสูงเกิดไฟป่า
GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียม พบจุดความร้อนของไทยพุ่งแซงเพื่อนบ้าน มากสุดในป่าอนุรักษ์ คาดการณ์ ช่วงวันที่ 5-11 ก.พ.67 มีพื้นที่ 9 จังหวัดเสี่ยงสูงเกิดไฟป่า
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) GISTDA เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศจำนวน 1,320 จุด ส่วนใหญ่พบในป่าอนุรักษ์ 410 จุด ตามด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ 341 จุด พื้นที่เกษตร 241 จุด แหล่งชุมชนและอื่นๆ 162 จุด พื้นที่เขต สปก. 157 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 9 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 338 จุด
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าพบจุดความร้อนทั้งสิ้น 1,059 จุด ตามด้วย ลาว 407 จุด กัมพูชา 351 จุด และเวียดนาม 215 จุด
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"
ขณะที่ สถานการณ์ไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ด้วยแบบจำลองระบบสารสนเทศ ระหว่างวันที่ 5 – 11 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามี 9 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า ได้แก่
- ตาก
- ลำปาง
- เพชรบูรณ์
- เชียงใหม่
- นครสวรรค์
- แม่ฮ่องสอน
- อุตรดิตถ์
- พิษณุโลก
- น่าน
โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่เขต สปก. ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ สาเหตุอาจเกิดจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า หรือการเผาก่อนเตรียมการเพาะปลูก หรือการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ GISTDA ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th
หมายเหตุ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า เป็นการประเมินด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจุดความร้อนสะสม (ทั้งข้อมูล VIIRS และ MODIS) ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ย้อนหลัง ประเภทการใช้ที่ดิน และข้อมูลสภาพอากาศล่วงหน้า (อุณหภูมิ และความชื้น) ของแต่ละช่วงเวลา