เกาะติดสถานการณ์น้ำ เน้นเชิงรุก วางแผนรับมือ 'เอลนีโญ' เปลี่ยนสู่ 'ลานีญา'
สทนช. เกาะติดสถานการณ์น้ำ เน้นบริหารน้ำเชิงรุก วางแผนรับมือสภาวะ เอลนีโญ เปลี่ยนสู่ ลานีญา
เกาะติดสถานการณ์น้ำใกล้ชิด ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ ยืนยันน้ำมีเพียงพอกับความต้องการ พร้อมวางแผนรับมือปรากฏการณ์ลานีญา ฝนตกหนักในช่วงฤดูฝนปีนี้
น้ำมีเพียงพอ-รับมือฝนตกหนักปีนี้
นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากผลการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดพบว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้เริ่มอ่อนกำลังลง
ขณะเดียวกับที่ปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยจะเริ่มชัดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน และจากการประเมินยังพบว่าปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 8 ในเดือนดังกล่าว ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นไป ร่วมกับการดำเนิน (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
บริหารจัดการน้ำภาคอีสาน
สำหรับสถานการณ์น้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน พบว่าที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำในอ่างร้อยละ 67 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้าจากผลของสภาวะลานีญา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีมติพิจารณาให้ปรับแผนเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งการเร่งระบายน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวมีความเหมาะสม
เนื่องจากเป็นช่วงที่ลำน้ำชีที่ต่อจากท้ายเขื่อนผ่าน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร จนถึงอุบลราชธานี ยังมีปริมาณน้ำในลำน้ำน้อย สามารถระบายน้ำได้โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ
ในทางตรงข้ามจะส่งผลดีต่อเกษตรกรและราษฎรในพื้นที่ ที่มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร อีกทั้งยังเป็นการพร่องน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากปรากฏการณ์ลานีญาที่จะมีฝนตกหนักและอาจจะเกิดน้ำท่วมได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การระบายน้ำจะพิจารณาปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของเขื่อน และสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด
ภาคกลางรับมือน้ำทะเลหนุนสูง
ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนร่วมกันในการเตรียมรับมือน้ำทะเลหนุนสูง เช่น การปรับเพิ่มการระบายน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก ก่อนเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง การเตรียมแผนกำหนดช่วงเวลาการสูบน้ำและลดกำลังผลิต เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมชลประทาน การประปานครหลวง และ สทนช. เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมน้ำดิบให้มีคุณภาพเหมาะสมต่อการผลิตน้ำประปาและทำการเกษตร
เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในแม่น้ำท่าจีนที่ทำให้ประชาชนและเกษตรกรที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ขาดแคลนน้ำจืดนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ปัญหาโดยผันจากแม่น้ำแม่กลองผ่านคลองท่าสารบางปลาและคลองจระเข้สามพัน มายังแม่น้ำท่าจีนเพื่อผลักดันน้ำเค็ม และบรรทุกน้ำจืดเข้าช่วยเหลือในพื้นที่
อีกทั้งได้วางแผนดำเนินการซ่อมแซมคันกั้นน้ำบริเวณรอยต่อชุมชนท่าจีน-ท่าฉลอม (ฝั่งขวา) เพื่อการป้องกันในอนาคต ปัจจุบันสถานการณ์น้ำทะเลหนุนได้คลี่คลายแล้ว
ภาคตะวันออก EEC น้ำพอฤดูแล้งนี้
รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ใช้โครงข่ายน้ำร่วมกับการทำการตกลงแลกเปลี่ยนเกณฑ์การใช้น้ำร่วมกัน ส่งผลให้ทางภาคตะวันออกมีน้ำเพียงพอต่อทุกกิจกรรมใช้น้ำตลอดฤดูแล้งนี้
ดังนั้นภาคตะวันออกในปีนี้จึงมีความมั่นคงด้านน้ำค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี ยังมีการควบคุมการใช้น้ำอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามข้อตกลงตลอดฤดูกาล
ภาคตะวันตกน้ำในเกณฑ์ดี
ในขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำร้อยละ 75 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จึงได้มีมติปรับเพิ่มการระบายเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำท่าจีน อีกทั้งเสริมปริมาณน้ำต้นทุนให้ลุ่มเจ้าพระยาด้วย
“สทนช.ได้เชื่อมประสานงานหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นเอกภาพภายใต้สถานการณ์น้ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และสภาพอากาศที่ค่อนข้างผันผวน และบรรเทาภัยทางน้ำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด รวมไปถึงการร่วมกันวางแผนป้องกันความเสี่ยงภัยด้านน้ำล่วงหน้าที่จะช่วยลดความเสียหายในชีวิต ทรัพย์สินให้กับทุกพื้นที่ของประเทศ และช่วยรัฐประหยัดงบประมาณแผ่นดิน” นายธรรมพงศ์กล่าวปิดท้าย