ไข้เลือดออก อาการช่วงไข้ลด ระยะอันตรายสุด อาจช็อคได้

ไข้เลือดออก อาการช่วงไข้ลด ระยะอันตรายสุด อาจช็อคได้

ไข้เลือดออก อาการช่วงไข้ลด ระยะอันตราย อาจช็อคได้ ขณะที่ 80 % ป่วยอาการไม่มาก ไม่มารพ. ไม่รู้ว่าติดเชื้อ ยุงกัดแพร่ต่อ เผยการระบาดสัมพันธ์เอลนีโญ ส่วนวัคซีนไช้เลือดอกมีข้อต้องพิจารณาก่อนฉีด

Keypoints:

  • สถานการณ์ไข้เลือดออก ปี 2567 เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบเสียชีวิตทุกสัปดาห์
  • อาการไข้เลือดออก ช่วงไข้ลด ระยะอันตรายที่สุด ต้องเฝ้าระวัง อาจเกิดภาวะช็อคได้  ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง
  • วัคซีนไข้เลือดออก ก่อนฉีดต้องอยู่ในดุลยพินิจแพทย์ กรมควบคุมโรคมี 1 ล็อตอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดูความคุ้มค่าและความปลอดภัย 

 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ โรคไข้เลือดออก ช่วงเดือนมกราคม 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 ราย มากกว่าปี 2566 ที่มีจำนวน 4,286 ราย ถึง 1.9 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • ผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี โดยพบมากทางภาคใต้ และภาคกลาง
  • รายงานผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 13 ราย กระจายใน 11 จังหวัด และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี

ทั้งนี้ ปี 2566 พบผู้ติดเชื้อประมาณ 150,000 ราย กรมควบคุมโรคมีการประเมินตั้งแต่ต้นปีว่า ในปี 2567 สถานการณ์ไข้เลือดออกจะสูงขึ้น คาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น อยู่ที่ประมาณ 276,945 ราย เสียชีวิต 280 ราย จะพบผู้ติดเชื้อสูงสุดของค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 3 เท่าตัว โดยการระบาดจะเริ่มช่วงเดือนเมษายน

80 % ป่วยไข้เลือดออกแต่ไม่มารพ.

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  80% โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ไม่ได้มาโรงพยาบาลเพราะมีอาการไม่มาก แต่ป่วยเป็นไข้เลือดออก เรียกว่า DF หรือ Dengue fever คือ มีเชื้อไวรัสอยู่ แต่อาการไม่รุนแรง มีไข้ปกติ และไปซื้อยากินเอง  ซึ่งคนไข้ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกนี้ อยู่ที่บ้าน ไม่ได้ทายากันยุง

เมื่อยุงมากัดก็นำเชื้อที่มีอยู่ไปแพร่เชื้อต่อคนอื่น เมื่อยุงมากัด จึงนำโรคแพร่เชื้อคนอื่นด้วย อยากรณรงค์ว่า เมื่ออยู่บ้านควรทายากันยุง หรือโลชั่นกันยุง ป้องกันไว้ดีที่สุด เหมือนการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19 แต่ทากันยุงก็ป้องกันไข้เลือดออก ลดการแพร่เชื้อ


ไข้เลือดออก อาการช่วงไข้ลด ระยะอันตรายสุด อาจช็อคได้

กรมกำลังทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการทายากันยุงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจะทำแสดงให้เห็นว่า หากคนป่วยทายากันยุงคนไม่ป่วยไม่ได้ทา จะป้องกันการแพร่เชื้อได้กี่เปอร์เซ็นต์ และหากคนไม่ป่วยทายากันยุง แต่คนป่วยไม่ทาจะป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ คล้ายกับภาพที่แสดงให้เห็นว่าหากคนป่วยใส่หน้ากากอนามัยจะป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ ที่ออกมาให้เห็นตอนช่วงโควิด-19หรือไข้หวัดใหญ่ระบาด

ไข้เลือดออก วัยทำงานน่ากังวลกว่าโควิด-19

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับกลุ่มวัยทำงาน ถือว่าไข้เลือดออกน่ากังวลกว่าโควิด-19  นพ.ธงชัย กล่าวว่า ณ ปัจจุบันในวัยทำงาน ไข้เลือดออกน่าเป็นห่วงกว่า เนื่องอัตราเสียชีวิตของไข้เลือดออกในกลุ่มวัยทำงานค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้ใหญ่ไม่ได้คิดถึงว่าตัวเองจะป่วยเป็นไข้เลือดออก จึงไปซื้อยาทานเอง

ดังนั้น ช่วงนี้คนมีไข้ ขออย่าซื้อยากินเอง อันตราย โดยเฉพาะยากลุ่มเอ็นเสด ยาสเตียรอยด์ เพราะเสี่ยงเสียชีวิตได้ กินได้อย่างเดียว คือ พาราเซตามอล 

หากมีไข้สูงลอย 2-3 วันไม่ดีขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ และยิ่งมีอาการหน้าแดง จ้ำเลือด ปวดท้องด้านขวา เสี่ยงตับโต ซึ่งกรณีนี้อาการจะรุนแรง ส่วนกรณี DF ติดเชื้อครั้งแรก มีไข้น้อยๆ ไม่มีอาการมาก  ไม่มีน้ำมูก ไม่เหมือนหวัด แต่ก็จะเป็นพาหะนำโรคได้

“ในการแยกอาการระหว่างไข้เลือดออกกับไข้หวัดใหญ่ที่บางครั้งไม่มีน้ำมูก ไม่มีอาการไอ คือ ไข้หวัดใหญ่จะปวดเมื่อยมาก ส่วนไข้เลือดออกอาจจะไม่ถึงกับปวดเมื่อยมาก แต่มีไข้สูงลอย”นพ.ธงชัยกล่าว 

 
ไข้เลือดออก สัมพันธ์เอลนีโญ

 นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า ทุกปีที่มีการระบาดของไข้เลือดออก ส่วนหนึ่งจะพบว่าเชื่อมโยงกับภาวะเอลนีโญ ที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มของประชากรยุง อย่างปีที่แล้วก็เป็นปีแรกของเอลนีโญ ซึ่งปกติจะระบาด 2 ปีติดกัน  และมีคนไข้สะสมจากปีที่แล้ว อยู่ในชุมชนสูง

“ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าเราป่วยไข้เลือดออกหรือไม่ แต่ไปซื้อยาพาราเซตามอลกินเอง เพราะมีอาการไม่มาก  แต่เรามีเชื้ออยู่ในตัว เมื่อยุงที่มากัดเราก็อาจเอาเชื้อไปแพร่ได้ และข้อมูลว่ายุงเริ่มมีการดื้อยาฆ่ายุง เพราะมีการใช้กันมาก จึงอยากรณรงค์เรื่องของกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และทายากันยุง” นพ.ธงชัยกล่าว 

วัคซีนไข้เลือดออก

ถามถึงวัคซีนไข้เลือดออก นพ.ธงชัย กล่าวว่า  การป่วยเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 อาการจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก แต่ทุกคนไม่รู้ว่าตัวเองได้รับเชื้อครั้งที่ 2 หรือไม่ จึงไม่รู้ว่าการให้วัคซีนจะเป็นการรับเชื้อครั้งที่ 2 หรือไม่เพราะวัคซีนเป็นชนิดเชื้อเป็น ไม่ใช่เชื้อตาย  ดังนั้นหากจะฉีดก็ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่จัดอยู่ในสิทธิประโยชน์ในการฉีดให้ประชาชนฟรี แต่กรมมีวัคซีนอยู่1ล็อตกำลังศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อศึกษาว่าคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน รวมถึงผลความปลอดภัยของการใช้วัคซีน  เพราะปัจจุบันราคาวัคซีนค่อนข้างแพง และการป้องกันก็ไม่ได้ 100% เพราะไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์

 อย่างไรก็ตาม การทายากันยุง หรือทาโลชั่นป้องกันยุงจะช่วยป้องกันได้ดี รวมทั้งช่วยกันเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย

ไข้เลือดออก อาการช่วงไข้ลด อาจช็อคได้

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากประชาชนมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา เป็นต้น

ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด อาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา 

หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน (นับจากวันที่เริ่มมีไข้) ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาเร็วจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ 

ไข้เลือดออก อาการช่วงไข้ลด ระยะอันตรายสุด อาจช็อคได้

ขณะที่ข้อมูลจากรพ.เวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ระบุว่า ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์  การติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วย80-90%จะไม่แสดงอาการ

ผู้มีอาการจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาจเป็นไข้เลือดออกซึ่งมีอาการสำคัญแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ

1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เด็กบางคนอาจชัก เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน

2. ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง

3. ระยะพักฟื้น อาการต่างๆจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามลำตัว

การรักษา

การรักษายังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้ยาพาราเซทตามอลในช่วงที่มีไข้สูง ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ยาแก้คลื่นไส้ และให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อคได้

ระยะที่เกิดช็อคส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมๆกับช่วงที่ไข้ลดลง ควรทราบอาการก่อนที่จะช็อค คือ อาจมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อมๆกับไข้ลดลง หน้ามืด เป็นลมง่าย หากเป็นดังนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที