แก้กฎหมายอุ้มบุญ "คู่สมรสเพศเดียวกัน"ตามกฎหมาย สามารถทำได้
กรมสบส.เดินหน้าแก้ "กฎหมายอุ้มบุญ" คู่สมรสเพศเดียวกันตามกฎหมายทำได้ พร้อมพิจารณาแนวทางดูแลหญิงตั้งครรภ์แทน มีระบบประกันสุขภาพรองรับ หลังไทยเด็กเกิดน้อย ปี 2565 ต่ำสุดในรอบ 70 ปี
Keypoints :
- ปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดน้อย เกิดใหม่เพียง 485,085 รายน้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปีและอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total FertilityRate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของหญิงไทยลดลงเหลือเพียง1.08
- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ปรับปรุงพรบ.อุ้มบุญ เปิดให้คู่สมรสที่มีทะเบียนสมรสตามกฎหมายสามารถอุ้มบุญได้ รวมถึง คู่สมรสเพศเดียวกัน
- ไทยอนุญาตให้ทำอุ้มบุญแล้วกว่า 700 คน เตรียมปรับคนต้องรับดูแลเด็กต่อ กรณีคู่สมรสเสียชีวิต ไม่ผลักภาระให้หญิงรับอุ้มบุญ
เด็กเกิดน้อยสุดในรอบ 70 ปี
ข้อมูลการเกิดใหม่ของประชากรไทย จำนวนเด็กเกิดใหม่ 5 ปีย้อนหลังมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ปี 2561 จำนวน 666,357 คน
- ปี 2562 จำนวน 618,193 คน
- ปี 2563 จำนวน 587,368 คน
- ปี 2564 จำนวน 544,570 คน
- ปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 คน น้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี
และจำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตายทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมานอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total FertilityRate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของหญิงไทยลดลงเหลือเพียง1.08 สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ปี 2561 จำนวน 10.66 ล้านคน
ปี 2562 จำนวน 11.13 ล้านคน
ปี 2563 จำนวน 11.62 ล้านคน
ปี 2564 จำนวน 12.24 ล้านคน
และปี 2565 จำนวน 12.69 ล้านคน
ทั้งนี้ ข้อมูลสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% และในปี 2583 เข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดคาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12%
แก้กฎหมายอุ้มบุญ คู่สมรสเพศเดียวกันทำได้
ทั้งนี้ นโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คือ ส่งเสริมการมีบุตร โดยมาตรการหนึ่งที่จะดำเนินการ คือ การใช้กลไกของพรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า กรมกำลังดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายอุ้มบุญ โดยมีการกำหนดให้สามารถดำเนินการได้ในคู่สมรส ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเพศชายกับเพศหญิง ดังนั้น หากเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตาม
กฎหมายก็สามารถทำอุ้มบุญ แต่ต้องบอกรายละเอียด ซึ่งการเสนอแก้ไขพร.บ.ได้มีการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนครม.จึงต้องนำกลับมาทำใหม่ แต่ก็จะยืนยันฉบับแก้ไขตามร่างเดิม เนื่องจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนของกรม ก่อนนำเสนอครม.อีกครั้ง
กรณีนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยขึ้น จึงไม่มีความยุ่งยากเหมือนการออกกฎหมายใหม่ ดังนั้น หากผ่านการพิจารณาของครม. ก็น่าจะส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับเข้าครม.เห็นชอบก็สามารถประกาศได้ จากนั้นกรมจะต้องมาดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หลักเกณฑ์วิธีการต่างๆที่เป็นกฎหมายลูกเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับส่วนที่มีการแก้ไขในพรบ.
“ในการแก้ไขกฎหมายอุ้มบุญ ก็จะอนุญาตให้คู่สมรสทำได้ตามพรบ.สมรสเท่าเทียมหากพ.ร.บ.เป็นอย่างไรก็จะเป็นไปตามนั้น เพราะในกฎหมายอุ้มบุญไม่ได้บอกว่าสามีภรรยาคือชายกับหญิง แต่ระบุว่าคู่สมรสตามกฎหมาย ซึ่งก็จะยึดที่การมีทะเบียนสมรสที่ถูกต้องกฎหมายเป็นหลัก เมื่อประสงค์จะมีการอุ้มบุญก็จะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯเหมือนเดิม”นพ.สุระกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขกฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการมีบุตร นพ.สุระ กล่าวว่า เป็นการดำเนินการร่วมกัน ซึ่งพรบ.อุ้มบุญ นอกเหนือดูเรื่องของการท้องไม่ได้ด้วยตนเอง ก็ยังดูเรื่องท้องได้แต่ท้องยากด้วย โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อย่างเช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการผสมบางอย่างที่ฉีดเข้าไป เป็นต้น
ถามว่าหากมีพรบ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ กลุ่มLGBT+ สามารถทำอุ้มบุญหรือใช้เทคโนโลช่วยการเจริญพันธุ์ตามกฎหมายนี้ได้ นพ.สุระ กล่าวว่า ก็จะต้องมาออกประกาศเพื่อให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถมีบุตรได้
เช่น ผู้หญิงกับผู้หญิงแต่งงานกันแล้วอยากมีลูก ซึ่งสามารถตั้งครรภ์ได้เองแต่อาจจะต้องใช้ผสมอสุจิคนอื่น ส่วนหากเป็นผู้ชายเป็นคู่สมรสกัน ก็ต้องหาผู้หญิงมาอุ้มบุญก็เข้าสู่การพิจารณาตามหลักเกณฑ์การอุ้มบุญ เพราะไม่มีมดลูก ตั้งครรภ์เองไม่ได้ ทั้งนี้ ย้ำว่าต้องเป็นคู่สรมสที่ถูกต้องมีทะเบียนสมรส ไม่ใช่คู่ชีวิต
หญิงอุ้มบุญ ระบบประกันสุขภาพ
“กฎหมายต้องการที่จะคุ้มครองเด็กที่เกิดมาให้ได้มากที่สุด จึงมีการพิจารณาเรื่องของกรณีระหว่างที่ทำอุ้มบุญ หากเกิดคู่สมรสเสียชีวิตไป คนที่รับอุ้มท้องจะทำอย่างไร ก็พยายามดูในเรื่องเหล่านี้อยู่ เบื้องต้นมีการระบุว่าเป็นหน้าที่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องดูแลเด็ก แต่กำลังพิจารณาว่าควรปรับแก้ให้เป็นญาติสายตรงของคู่สมรสที่มีกำลังมีทรัพย์สินที่จะสามารถดูแลเด็กได้ อยากแก้ให้เป็นแบบนี้ไม่ใช่ให้เป็นเรื่องของคนรับตั้งครรภ์ เพราะหากฐานะไม่ดีเด็กที่เกิดมาก็จะลำบาก จึงอยากให้เป็นญาติมากกว่า”นพ.สุระกล่าว
นพ.สุระ กล่าวด้วยว่า เรื่องความปลอดภัยของผู้รับบริการเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และยกระดับการพัฒนาระบบการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และเพิ่มประชากรรองรับสภาวะสังคมผู้สูงอายุ
คณะอนุกรรมควบคุม ตรวจสอบ หรือกำกับดูแลการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการ จึงได้พิจารณาเห็นควรให้มีการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน
เบื้องต้นมีขอบเขตในการพิจารณาทำประกันในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
1.ครอบคลุมหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน
2.โรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องจากการตั้งครรภ์ การคลอดและหลังคลอด
กรม สบส.จะดำเนินการพัฒนาการทำประกันกรณีการตั้งครรภ์แทน โดยได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทยและบริษัทสมาชิก สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทสมาชิก ร่วมพิจารณาเกณฑ์ร่างกรมธรรม์ คาดว่าร่างกรมธรรม์จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2567
อุ้มบุญในไทยแล้วกว่า 700 คน
ปัจจุบันในประเทศไทย มีสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ จำนวน 114 แห่ง และคณะกรรมการฯพิจารณาอนุญาตให้ทำอุ้มบุญถูกต้องตามกฎหมายแล้ว 745คนนับตั้งแต่ที่พรบ.มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558 มีอัตราความสำเร็จในการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากถึง 46 % ซึ่งถือเป็นอัตราความสำเร็จที่ค่อนข้างสูง
ถามถึงแนวทางป้องกันกรณีที่มีการจดทะเบียนสมรสปลอมเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์อุ้มบุญแล้วเป็นการค้ามนุษย์ นพ.สุระ กล่าวว่า มีหลักเกณฑ์การพิจารณา หากเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดก็ต้องพิจารณาให้ทำได้
ส่วนคนที่ไม่ทำตามหลักเกณฑ์อยู่ใต้ดิน ซึ่งแม้จะมีหรือไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังทำอยู่ ก็เป็นเรื่องของความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องติดตามดำเนินการตามกฎหมาย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)จะดำเนินการตามกฎหมายกรณีการอุ้มบุญที่ผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการให้ชาวต่างชาติมาทำอุ้มบุญที่ประเทศไทย นพ.สุระ กล่าวว่า เป็นอีกเรื่อง ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างประเทศมาทำอุ้มบุญในประเทศไทยได้ ยังยืนยันว่าตามกฎหมาย คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝายใดจะต้องเป็นคนไทย