จับตา! เคาะ "ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์"
สลค.ส่งเรื่องถาม “ขยายจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารถึงตี 4” คกก.ควบคุมฯชี้เป็นสินค้าต้องควบคุม-ขัดประกาศ 2 ฉบับ ชงเข้าคกก.นโยบายฯตัดสิน19 ก.พ.นี้ ด้านเครือข่ายฯชี้พื้นที่นำร่องขายถึงตี 4 ยอดอุบัติเหตุพุ่ง ขยายเพิ่มเติมมูลค่าเสียหาย 1.6 แสนลบ.
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาเพียงวาระเดียว คือ จากการที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)มีหนังสือมายังกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ที่จะขยายการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารของ 4 พื้นที่ที่นำร่องเปิดสถานบริการถึงตี 4 ไปแล้ว ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีมติว่าจะขยายหรือไม่ขยาย โดยให้ไปพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอออล์เคาะ 19 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ เรื่องความเหมาะสมนั้น คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ยืนยันในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า เป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม โดยมีการรายงานข้อมูล ผลกระทบทางสังคมและสุขภาพซึ่งภาพค่อนข้างชัด เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ทั้งประเทศมีอุบัติเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 25% ส่วนใหญ่เป็นคนไทย หรือมีผู้ขับมอเตอร์ไซค์ล้มเองไม่เป็นคดี 2-3 พันราย
ข้อมูลจากการขยายเปิดสถานบริการตี 4 ในจังหวัดนำร่อง ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องตัวเลขเม็ดเงินจากการดื่มการท่องเที่ยวต่างๆ
ส่วนเรื่องความเป็นไปได้ เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวกับเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มี 2 ฉบับ คือ ประกาศคณะปฏิวัติ (ปว.) ฉบับที่ 253 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดตรงกันให้ขายช่วง 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น.
“ ถ้าคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะแก้ไขเวลาจำหน่าย ก็จะไปขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ ดังนั้น จึงต้องไปดำเนินการทางกฎหมายให้ชัดเจนก่อน จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่จะมีการประชุมในวันที่ 19 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาตัดสินว่าจะมีการแก้ไขให้ขยายหรือไม่ขยาย หากจะมีการแก้ไขประกาศคณะปฏิวัติ ก็จะเป็นกระทรวงมหาดไทย เพราะประกาศนี้ลงนามโดยทางมหาดไทย" นพ.ธงชัยกล่าว
ค้านขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้สื่อข่าวรายงาน ก่อนการประชุม ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์ป้องกันแอลกอฮอล์ เหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายแท็กซี่ สามล้อ ไรเดอร์รับจ้าง สหภาพแรงงาน แรงงานนอกระบบ องค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัวและภาคประชาชน และคนพิการที่ได้รับผลกระทบเป็นเหยื่อคนเมาแล้วขับ ราว 500 คน
รวมตัวกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการพิจารณาขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการแสดงละครล้อเลียน “หยุดเพิ่มเวลาขายเหล้าเบียร์ ประชาชนเสี่ยง เจ็บ ตาย คนขายรวย”
ทั้งนี้ รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข รับหนังสือแทนนพ.ชลน่าน ที่รีบออกจากการประชุมไปตอบกระทู้สดที่รัฐสภา
-
ตายจากอุบัติเหตุเกี่ยวน้ำเมาพุ่ง
นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้อมูลปรากฎชัดจากขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนถึงตี 4 ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัดเพียงเหตุผลเดียวเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนเพียงมกราคมเดือนเดียวในปี 2567 เทียบเดือนเดียวกันในปี 2566 พบข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มีน้ำเมาเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นชัดเจน
- กทม.เพิ่มถึง 46.6%
- ภูเก็ตเพิ่ม 35.7%
- เชียงใหม่เพิ่ม 22.5%
- ชลบุรี และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เพิ่มกว่า 10%
“สิ่งเหล่านี้ไม่มีการพูดถึง แต่เร่งดำเนินการถือเป็นการเหยียบอยู่บนความตายของประชาชน นโยบายดิจิทัลวอลเลตไม่ทำให้คนตาย แต่การขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้คนตาย การตัดสินใจนโยบายอยากให้ศึกษาข้อมูลรอบด้านไม่ใช่คิดจากความมักง่าย หากยังดึงดันอาจจะถึงเวลาที่พวกเราต้องไล่นายกฯ เพราะนายกฯ แบบนี้เราไม่เอา”ชูวิทย์กล่าว
-
มูลค่าความสูญเสียมากกว่า 1.6 แสนลบ.
ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดขายเหล้าเบียร์มากกว่า 580,000 จุด และที่แอบขยายอีกมหาศาล โดยขายได้ 2 ช่วงเวลาหรือ 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่ส่งผลให้คนบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้องกว่า 53,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 145 คน หรือ 6 คนต่อชั่วโมง
“ หากขยายเวลาเพิ่มผลกระทบก็จะยิ่งเท่าตัว มีการประมาณการมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1.6 แสนล้านบาท จึงเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย”ธีรภัทร์กล่าว
ภาคีเครือข่ายขอยื่นข้อเสนอ ดังนี้
1.ให้สธ.ยึดประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก
2.คัดค้านแนวคิดนายกฯ ที่พยายามขยายเวลาจำหน่ายสุราเพื่อเอาใจนายทุน และฝากไปถึงนายกฯ ให้รับฟังข้อมูลรอบคอบและรอบด้าน อย่าซ้ำเติมให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับกัญชา
และ 3.ให้มีการศึกษาข้อมูลรอบด้านถึงผลดี-ผลดีก่อนขยายเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 28 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กำหนดห้ามมิให้ ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัน หรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด โดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันมีประกาศ 2 ฉบับที่กำหนดไว้ตรงกัน ให้จำหน่ายได้ในเวลา
หากจะขยายเวลาจำหน่ายในร้านอาหาร พื้นที่นำร่อง จะต้องมีการออกประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันที่ 15 ก.พ.2567 ไม่ได้มีคำแนะนำให้ขยายหรือไม่ขยาย แต่ให้ส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ตามกฎหมายมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)