soft power ของไทย อำนาจ เงิน และชื่อเสียง
จับกระแส soft power ของไทย อำนาจ เงิน และชื่อเสียง ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
อัปเดตจับกระแส soft power ของไทย อำนาจ เงิน และชื่อเสียง กรณีการปรับเปลี่ยนเพิ่มรายชื่อของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ภาพยนตร์ แฟชั่น หนังสือ อาหาร กีฬา เกม ศิลปะ ละคร ท่องเที่ยวและเฟสติวัล ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
น่าสนใจว่า มีรายชื่อนักธุรกิจใหญ่หลายรายเข้ามามีส่วนในการเสนอความคิดความเห็นเพื่อส่งต่อให้รัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อน soft power ของประเทศ ในภาพรวม
หวังให้เกิดเป็น "ภาพใหญ่" การขับเคลื่อนให้สังคมได้รับรู้ว่ามีความคืบหน้า เพราะบิ๊กคอร์ปสามารถลงทุนสอดรับนโยบายรัฐบาลได้
แต่ก็อย่าลืมเสียงของ "คนทำงาน" ในด้านต่าง ๆ ที่เป็นอนุกรรมการฯด้วย เพราะอาจถูกมองเป็นไม้ประดับ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องระวัง
ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาอุปสรรคในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ด้านกฎระเบียบราชการ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ตั้งศูนย์ One Stop Service เช่นด้านกีฬา การขอวีซ่าไปแข่งกีฬา จะง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมาการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อแข่งขันกีฬามีปัญหาและอุปสรรคมากมาย
โดยเฉพาะเรื่องการขอวีซ่า กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาประสานกระทรวงต่างประเทศ ดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬาที่จะเดินทางไปแข่งขัน ดูแลการขอพาสปอร์ตให้กับกีฬาเยาวชน รวมถึงการขอวีซ่าสำหรับการเดินทางไปแข่งขันต่างประเทศ นักกีฬาไทยมีศักยภาพจะได้สะดวกยิ่งขึ้น
ส่วนทางด้านภาพยนตร์และดนตรี เตรียมตั้ง One Stop Service Center (OSSC) แก้ปัญหาให้กลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์และดนตรี ให้หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน อย่างเช่น กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กรมการปกครอง กรมการจัดหางาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานอาหารและยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานและการจัดตั้งต้นแบบ OSSC เพื่ออำนวยความสะดวก ลดปัญหา ลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรค และเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับคนทำภาพยนตร์ ซีรีส์และดนตรี
หวังให้การขออนุญาต การออกวีซ่า หรือการขอขยายเวลาอยู่ต่อในประเทศให้ผู้ที่สนใจเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ หรือผู้ที่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมด้านดนตรี เช่น การขอใบอนุญาตทำงาน การขอวีซ่า การขออนุญาตใช้พื้นที่ รวมทั้งการใช้เครื่องขยายเสียง และการขออนุมัติ ขออนุญาตในการจัดเทศกาลดนตรีจากหน่วยงานราชการ ได้ง่ายขึ้น
สำหรับผลการหารือพัฒนาต้นแบบเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติกลางเดือนมีนาคมนี้ จึงหวังว่ากฎระเบียบราชการถูกปรับแก้ไข บูรณาการทำงานข้าราชการให้รวดเร็วขึ้น
แน่นอนว่า เมื่อมีบทบาทหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาล ทั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการย่อมได้ดอกไม้และก้อนอิฐ รวมถึงความกดดันจากคนในวงการและประชาชน
เนื่องจาก “กรรมการบางราย” ถึงกับระบายดัง ๆ อยากได้อิสระ ไม่อยากยุ่งกับอำนาจ เงิน และชื่อเสียง เพราะการทำงานต้องอยู่บนเงื่อนไขความขัดแย้ง มันมีเรื่องผลประโยชน์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การทำงานเพื่อส่วนรวมย่อมมีการเมืองอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น “ศิลปะ” ในการทำงาน มุ่งผสานประโยชน์เพื่อส่วนรวมให้มากที่สุด จะเกิดเป็น soft power ของชาติในวันข้างหน้าได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
- บทความที่เกี่ยวข้องกับ soft power ทั้งหมด
- บทความของนิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด