'พัชรวาท' สั่งปิดป่า - ยกระดับคุมเข้มจุดความร้อน 17 จว.ภาคเหนือ แก้ฝุ่น PM 2.5
"พัชรวาท" สั่งปิดป่า ห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ยกระดับคุมเข้มจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
วานนี้ (10 มี.ค.2567) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบ VDO Conference ติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับ 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมด้วยหน่วยงานในระดับพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สั่งการยกระดับมาตรการที่เข้มงวด ปรับรูปแบบ การจัดกำลังดับไฟป่า "ปิดป่า" ห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ "แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ" ตามข้อห่วงใยของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดริมชายแดนที่มีค่าค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า จากสถานการณ์ไฟป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขอให้ทุกหน่วยงานนำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน โดยควบคุมกำกับดูแลการจัดการไฟในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวนฯ รวมถึงพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่สูง และในพื้นที่ราบของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ใน 6 มาตรการสำคัญ คือ
1. ปรับรูปแบบ การจัดกำลังดับไฟป่า ด้วยยุทธวิธี ผสมผสานทั้งการตรึงพื้นที่ด้วยจุดเฝ้าระวัง และการลาดตระเวน การส่งกำลังและดับไฟโดยอากาศยาน เข้าถึงไฟให้เร็ว ควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้าง คุมแนวไฟและดับให้สนิท โดยให้วอร์รูมบัญชาการชุดปฏิบัติการดับไฟป่าตลอดเวลาที่มีการเข้าพื้นที่
2. ติดตามสถานการณ์จุดความร้อน สนธิกำลังพลทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และเครือข่าย ทั้งระดับภาคพื้นและอากาศยาน ลาดตะเวน เฝ้าระวัง อย่างเข้มข้น เมื่อพบต้องเร่งเข้าปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์โดยทันที แต่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และงดการใช้อาสาสมัครที่ไม่ได้รับการฝึกปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย
3. สนับสนุนและบูรณาการทำงานอย่างเต็มที่เป็นหนึ่งเดียว กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลาง
4. "ปิดป่า" ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ยกระดับการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่า
5. พื้นที่เกษตร ต้องติดตามเฝ้าระวังประสานงานกับฝ่ายปกครองอย่างใกล้ชิด เพื่อลดและควบคุมไม่ให้เกิดการเผาและหากเกิดต้องควบคุมให้ได้โดยเร็ว
6.สื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง ทันท่วงทีเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง สร้างความรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ "แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ" คำนึงถึง ความปลอดภัย และสุดท้ายขอขอบคุณทุกท่านที่ทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพื่อพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ นายจตุพร ปลัดกระทรวงฯ เร่งประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เมียนมาร์ และลาว เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ผ่านกลไกความมั่นคงและความสัมพันธ์ระดับชายแดน โดยได้มีการยกระดับการหารือร่วมกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 เพื่อจัดตั้ง Hotline ระหว่าง 2 ประเทศ และมีกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันภายในช่วงเดือนเมษายนนี้ สำหรับประเทศเมียนมาร์ อยู่ระหว่างการเจรจาโดยใช้กลไกคณะกรรมการชายแดนระดับผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมทั้งให้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมกับภาครัฐ ผ่านความร่วมมือกับ BOI ในการให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการป่าเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างยั่งยืนด้วย