ปภ. เตือน 59 จังหวัด และกทม. เฝ้าระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง 19–20 มี.ค.
ปภ. แจ้งเตือน 59 จังหวัด พื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน –กลาง-กทม. เฝ้าระวังพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง ช่วง 19–20 มี.ค.นี้
วันนี้ (18 มี.ค. 67) เวลา 10.15 น. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ (61/2567) ลงวันที่ 17 มี.ค. 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้
ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในระยะแรก โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 19 - 20 มี.ค. 2567 แยกเป็น
- ภาคเหนือ ทุกจังหวัด
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- ภาคกลาง ทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 59 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย