สาธารณสมบัติของแผ่นดิน : หาดทราย ชายทะเล

สาธารณสมบัติของแผ่นดิน : หาดทราย ชายทะเล

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน มีที่บัญญัติเกี่ยวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ คือ มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน

เช่น 

1.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน หรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดิน โดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน 2.ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ

3.ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเป็นต้นว่า ป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธ ยุทธภัณฑ์

มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ หรือพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

มาตรา 1307 ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

หาดทราย ชายทะเล

สำหรับหาดทราย ชายทะเล ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามที่บัญญัติในมาตรา 1304 (2)

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3151/2528 โฉนดที่ดินพิพาทออกทับหาดแสนสุขและทะเล (หาดดินโคลน) หาดแสนสุขเป็นสถานที่ซึ่งประชาชนไปเที่ยวเตร่และพักผ่อนหย่อนใจ น้ำทะเลท่วมถึง มีเรือมาจอดที่ชายหาดเป็นประจำ อันถือได้ว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (2) 

เป็นการที่เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดออกโฉนดพิพาทบางส่วนทับหาดแสนสุขและทะเล อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดินสั่งเพิกถอนการออกโฉนดพิพาททั้งฉบับได้

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6634/2545 หาดทรายชายทะเลซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะเปลี่ยนแปลงสภาพโดยธรรมชาติโดยทะเลตื้นเขินขึ้น แต่ก็เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (2) 

ตราบใดที่ทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่โจทก์มิใช่ผู้ยึดถือที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่

ความหมายชายทะเล ถือตามพจนานุกรม ที่งอกของชายหาดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

  - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9214/2558 ตามหลักฐานระบุว่าที่ดินที่เป็นปัญหา ด้านทิศตะวันตกจดชายทะเล ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ที่ชายทะเล” หมายถึง “เขตระหว่างแนวน้ำทะเลต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด”

ซึ่งแสดงว่าที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่เกิดที่งอกนั้นติดชายทะเลที่น้ำท่วมถึง (ชายหาด) ย่อมเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน 

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินของโจทก์มิได้อยู่ติดกับทะเล แต่มีชายทะเล (ชายหาด) กั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับพื้นน้ำทะเล ที่ดินที่งอกขึ้นจากชายทะเลดังกล่าว จึงเป็นที่ดินที่งอกขึ้นจากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่งอกดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพื้นที่ที่ดินที่งอกขึ้นมา

  น้ำทะเลไหลข้ามาตามคลองท่วมที่ดิน ไม่ถือเป็นชายทะเล

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2789/2519 ที่ดินตะกาดห่างชายทะเล 3 เส้น มีที่ดินของผู้อื่นคั่น ในฤดูหนาวน้ำทะเลไหลเข้ามาทางคลองและล้นตลิ่งท่วมที่ดิน ไม่ใช่ที่ดินที่น้ำทะเลท่วมถึงหรือที่ชายฝั่งทะเล ไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

  คดีฟ้องผู้รุกล้ำชายทะเล

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5206/2559 ในปี 2510 ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง ส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกเป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง ที่ดินส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนั้นเป็นที่ชายทะเลอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) 

แม้ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนี้ในภายหลังน้ำทะเลร่นหรือเขินไปทางทิศตะวันตกทำให้กลายเป็นที่ดินที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงก็ตาม ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1309 ตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.ถอนสภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ประกอบ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่เช่นเดิม

 ส่วนที่ดินเกิดเหตุส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออก ที่เป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง และไม่ปรากฏมีผู้ครอบครองทำประโยชน์นั้น เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) แม้จะมีบทบัญญัติว่าบุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1334 

ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 4 ก็บัญญัติรับรองให้เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีการครอบครองและทำประโยชน์ก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับเท่านั้น แต่การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุของจำเลยเป็นเวลาภายหลังปี 2519 และเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครอง และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2365/2563 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ชายทะเล และอยู่นอกเขต น.ส.3 ก. และไม่ปรากฏว่าบุคคลใดมีเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว จึงถือว่าเป็นที่ดินของรัฐ

เมื่อจำเลยกระทำความผิดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินของรัฐได้.