เปิดความจริง "เห็ดขี้ควาย" อันตรายถึงตาย กฎหมายรุนแรงแค่ไหน?
เปิดความจริง "เห็ดขี้ควาย" เห็ดเมา สารเสพติดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง อันตรายถึงตาย ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผิดจริง "ผลิต - นำเข้า - ส่งออก - จำหน่าย - มีไว้ในครอบครอง" เห็ดยาเสพติด เห็ดผิดกฎหมาย กฎหมายรุนแรงแค่ไหน? เผยช่องทางให้คำปรึกษา การรักษาปัญหายาและสารเสพติด
ภายหลังจากกรณีสืบนครบาล จับกุม หนุ่มสถาปัตย์ อายุ 24 ปี ลักลอบผลิต"เห็ดขี้ควาย" หรือเห็ดเมา โพสต์จำหน่ายทางออนไลน์ให้แก่ประชาชนทั่วไป
โดยผู้ต้องหาได้กระทำความผิดฐาน มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) ไว้ในครอบครอง โดยผิดกฎหมาย และผลิต-จำหน่ายเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) โดยผิดกฎหมาย
ทำให้หลายคนคงสงสัยว่าเห็ดขี้ควาย เห็ดพิษ อันตรายรุนแรงแค่ไหน..ทำไมถึงเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย? มีโทษหนักแค่ไหน "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พามาไขคำตอบพร้อมกันที่นี่
เห็ดขี้ควาย เห็ดวิเศษ หรือเห็ดเมา "เห็ดยาเสพติด" มีสารเสพติด ระวังโทษฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ขาย หรือ เสพ มีโทษจำคุก
พิษภัยสารที่อยู่ภายในเห็ดขี้ควาย
แม้ชื่อจะเป็นเห็ดที่ดูแล้วไม่น่ามีพิษภัย แต่อันตรายที่แท้จริงสารที่อยู่ภายในเห็ดขี้ควาย นี้ที่มีอยู่ 2 ชนิด คือ psilocybine หรือ psilocine
มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา "อันตรายถึงตาย" บรรดาสายปาร์ตี้ทั้งหลายชื่นชอบเป็นพิเศษโดยการนำไปปรุงกับเครื่องดื่มหรือทำเป็นอาหาร
ชื่อสามัญ - ชื่อเรียกทั่วไปของเห็ดขี้ควาย
เห็ดขี้ควาย , เห็ดวิเศษ หรือเห็ดเมา Psilocybe mushroom บางแห่งเรียกเห็ดโอสถลวงจิต ในบรรดานักเที่ยวอาจเรียกเห็ดขี้ควายว่า Magic Mushroom , Buffalo dung Mushroom
ลักษณะของเห็ดขี้ควาย
- หมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร
- ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง
- กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ
- โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน
- ก้าน ยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย
- สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็ก ๆ
การพบเห็ดขี้ควายในประเทศไทย
เห็ดขี้ควาย ขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง
ลักษณะการเสพ
- การเสพ มีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง
- บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือคอกเทล
- คนทั่วไปมักทราบ และรู้ว่าเห็ดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน
อาการผู้เสพ อาการเมื่อสารจากเห็ดขี้ควายเข้าสู่ร่างกาย อันตรายรุนแรงแค่ไหน!
- เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด
- เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง
- ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา คลื่นไส้ อาเจียน หายใจติดขัดและอาจเสียชีวิตได้
- รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้
- มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD
- คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
เห็ดผิดกฎหมาย การควบคุมตามกฎหมาย โทษตามกฎหมาย..มีโทษหนักแค่ไหน?
เห็ดขี้ควาย "เห็ดผิดกฎหมาย" ซึ่งหมายถึงพืชที่ให้สาร psilocybine หรือ psilocine และรวมถึงส่วนต่างๆ ของพืชดังกล่าว เป็นต้นว่า ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ดดังกล่าว จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
บทกำหนดโทษยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,00 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
ศึกษาบทกำหนดโทษยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด (คลิก)
ทั้งนี้ในปัจจุบันสาร psilocybine และ psilocine ถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
บทกำหนดโทษวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต
- บทกำหนดโทษ : จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับ ไม่เกิน 1,000,000 บาท ตาม ม.94, ม.149 วรรคหนึ่ง(1), ม35 (5)
โดยความผิดฐานการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองหรือนำผ่าน ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 1 เป็นการกระทำดังต่อไปนี้
- การกระทำเพื่อการค้า
- การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
- การจำหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
- การจำหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานที่ อันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
- การกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
- การกระทำโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ
- บทกำหนดโทษ : จำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 1,500,000 บาท ตาม ม.94, ม.149 วรรคสอง
ศึกษาบทกำหนดโทษวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด (คลิก)
ช่องทางให้คำปรึกษา การรักษาเมื่อพบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด
ประชาชนหากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี
โรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
- แม่ฮ่องสอน
- ขอนแก่น
- อุดรธานี
- สงขลา
- ปัตตานี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือดูข้อมูลได้ที่ www.pmindat.go.th
อ้างอิง-ภาพ : กองควบคุมวัตถุเสพติด , กระทรวงยุติธรรม ,สืบนครบาล IDMB , สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ,พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 มาตรา 93 มาตรา 104 มาตรา 148 มาตรา 162 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565