อัปเดต จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใหญ่สุดในไทย DSI-ตร.จับ 70 คนไทย-จีน
อัปเดตล่าสุด แถลงจับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใหญ่สุดในไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI-ตำรวจไซเบอร์จับคนไทยและคนจีนกว่า 70 ราย ขบวนการหลอกลวงชุดใหญ่คารังโจรที่นครศรีธรรมราช
อัปเดตล่าสุด การแถลงจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใหญ่สุดในไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI และ ตำรวจไซเบอร์ ลั่นจับคนไทยและคนจีนกว่า 70 ราย อุปกรณ์กว่าพันชิ้น ที่นครศรีธรรมราช
ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่สุดในฐานภาคใต้ของไทย
เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สนธิกำลังกับตำรวจไซเบอร์ (สอท.5) และหน่วยงานอื่นอีกหลายภาคส่วน ตรวจค้นจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์รายใหญ่ในพื้นที่นครศรีธรรมราช
วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ แถลงข่าวร่วมกับ พล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย พล.ต.ท. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8. พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) ณ สถานีตำรวจภูธรฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีร่วมปฏิบัติการตรวจค้นเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ที่สุดเท่าที่ตรวจพบในประเทศไทย สามารถควบคุมชาวต่างชาติที่กระทำผิดแล้วตรวจยึดหลักฐานได้เป็นจำนวนมาก
เบื้องลึกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ Call Center Gang
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก จากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทราบว่าเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2566 มีกลุ่มเครือข่ายชาวไทยและชาวจีน มาใช้สถานที่ในประเทศไทย ตั้งสำนักงานหลอกลวงผู้เสียหายทางโทรศัพท์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center Gang)
กระทั่งสืบสวนเชิงลึกจนทราบว่าเป็นโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีการสร้างเรื่องต่าง ๆ อาทิ
- ชักชวนให้ร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrency)
- ชักชวนให้เล่นการพนันออนไลน์
- หลอกลวงให้ซื้อสินค้า เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้กับกลุ่มของตน
จากนั้นกลุ่มคนร้ายจะสร้างเพจหรือยิงแอดโฆษณาเฟซบุ๊กและกูเกิล เพื่อสร้างเรื่องหลอกลวงผู้เสียหายขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งว่าจะมีการว่าจ้างทนายความเพื่อไปดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่มาหลอกลวงผู้เสียหายคนดังกล่าวแล้วให้ผู้เสียหายโอนเงินมายังบัญชีธนาคารที่เครือข่ายของตนเปิดไว้ในประเทศไทย
ทำให้ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศรัสเซีย หลงเชื่อและได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ จึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานเชิงลึก พบว่าสถานที่ที่กลุ่มคนร้ายใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีลักษณะเป็น
โรงแรมตึกแถว จำนวน 5 คูหา 4 ชั้น มีห้องพัก จำนวน 22 ห้อง โดยจะมีกลุ่มคนร้ายที่เป็นคนไทยทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย (Guard) ป้องกันบุคคลเข้าออกภายในอาคาร
มีชาวจีนและชาวไทยหลายสิบคนนั่งทำงาน จากข้อมูลแจ้งว่าบางรายถูกหลอกลวงและบังคับขู่เข็ญจากสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มาทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย
วานนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2567) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นำทีมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ บูรณาการทางการข่าวและตรวจค้นจับกุมร่วมกับ
- กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ตำรวจภูธรภาค 8
- สำนักงาน กสทช.
- สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
- กรมการจัดหางาน
ลงพื้นที่ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม พร้อมกัน 3 จุด และขยายผลระหว่างตรวจค้นอีก 1 จุด ในอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการตรวจค้นพบบุคคลและหลักฐาน ดังนี้
- ชาวจีน จำนวน 52 คน
- ชาวไทย จำนวน 19 คน
- รวม 71 คน
- คอมพิวเตอร์ จำนวน 223 เครื่อง
- โทรศัพท์ จำนวน 1,001 เครื่อง
- ไอแพด จำนวน 14 เครื่อง
- ซิมการ์ด จำนวน 298 ซิม
- สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 86 เล่ม
- สินค้าหลีกเลี่ยงศุลกากรอีกจำนวนมาก
แก๊งคอลเซ็นเตอร์แก๊งนี้ มีพฤติการณ์การกระทำความผิดในลักษณะเป็นแก๊งหลอกผู้เสียหาย โดยใช้จุดที่ตรวจค้นดังกล่าวเป็นสำนักงานในการหลอกลวงผู้เสียหายที่อยู่ในต่างประเทศ มีการแชทสนทนาเป็นภาษาจีน รัสเซียและไทย ด้วยอุปกรณ์แปลภาษา (google Translator) โดยในแต่ละจุดเกิดเหตุ ได้มีการตรวจพบหนังสือเดินทางจากประเทศจีน ที่ใช้เดินทางเข้า-ออกประเทศกัมพูชาบ่อยครั้ง
บางส่วนมีการอยู่เกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตเข้าประเทศ และพบโทรศัพท์มือถือจำนวนมากที่ใช้ในการส่งลิงก์เพื่อให้เหยื่อมีการ คลิกลิงก์ซึ่งพฤติการณ์มีลักษณะคล้ายกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ผ่านมา จึงได้แจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และ พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเรื่องจัดหาบัญชีม้า ซิมม้า
นำส่งพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุดำเนินคดี และเร่งรัดผลการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ หากเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษจะโอนสำนวนการสอบสวนมาดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสอบสวน คดีพิเศษ ฯ
ข้อมูลและภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ