กฎหมายป้องกันกระทำความผิดซ้ำ ทางเลือกที่ไม่ยึดติดบทลงโทษรุนแรง
ไม่ว่ากี่ยุคสมัย ความรุนแรงเป็นทางเลือกหรือสัญชาตญาณที่อยู่ควบคู่กับมนุษย์เสมอ อันประจักษ์ได้จากประวัติศาสตร์โลกว่ามนุษย์ไม่อาจพัฒนามาถึงทุกวันนี้หากปราศจาก “ความรุนแรง” หรือ “สงคราม”
ตัวอย่างที่ดีคือ สงครามเมืองทรอย สงครามครูเสด สงครามกลางเมืองที่แบ่งแยกชาวอเมริกัน จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ในทางกลับกันความพยายามที่จะควบคุมความรุนแรงหรือสงครามก็ขับเคลื่อนด้วย “ความรุนแรง” ไม่ต่างกัน
บทลงโทษทางกฎหมาย มาตรการทางการเมือง หรือมาตรการทางสังคมที่เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสันติภาพ ก็อาจได้มาด้วยการกำจัดศัตรูให้สิ้นซากเช่นกัน ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สังคมจะมีทางเลือกอื่นใดเพื่อยุติความรุนแรงได้อย่างแท้จริงโดยไม่พึ่งความรุนแรง?
พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 อาจเป็นคำตอบส่วนหนึ่งของทางออกนี้
พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ” เป็นแนวคิดที่มุ่งลดปัญหาอาชญากรรมซ้ำซากของนานาอารยประเทศ
ผ่านการกำหนดเงื่อนไขบังคับใช้ตามลักษณะแห่งการกระทำความผิดในสังคม เช่น ในประเทศออสเตรเลีย นำมาปรับใช้กับผู้กระทำความผิดอันเรียกว่า “คดีอุกฉกรรจ์” (Serious Offenders) ในประเทศอังกฤษ ปรับใช้กับผู้กระทำความผิดที่ต้องโทษรุนแรงเรียกว่า “คดีที่มีความผิดอันตราย” (Dangerous Offenders)
เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศส ที่ใช้นิยามนี้ในการกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดไปกระทำความผิดซ้ำซากภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
ทั้งนี้ มาตรการพิเศษดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ “บทลงโทษ” แต่กลับมุ่งเน้นไปที่หลักการคุ้มครองความปลอดภัยของสังคม โดยการฟื้นฟูแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด ภายใต้การเคารพสิทธิของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม
มาตรการทางกฎหมายนี้แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1.มาตรการทางการแพทย์ (Medical Treatment)
พื้นฐานของการใช้กฎหมายป้องกันกระทำความผิดซ้ำของประเทศไทย มุ่งใช้กับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือใช้ความรุนแรง โดยการกระทำความผิดใน 2 ประเภทนี้มีจุดเกาะเกี่ยวในบางมิติที่สัมพันธ์กับสาเหตุทางร่างกายบางอย่าง
ซึ่งอาจเป็นองค์ประกอบหลัก ที่ทำให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวไม่สามารถยับยั้งตนเองไม่ให้กระทำความผิดได้ เช่น ฮอร์โมนที่ผิดปกติ ปมด้อยทางร่างกายหรือสังคมที่หล่อหลอมจนกลายเป็นสภาวะนิสัยติดตัว
สาเหตุทางร่างกายเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น ดังนั้น การใช้มาตรการทางการแพทย์ในการบำบัดเพื่อไปแก้ไขข้อบกพร่องทางร่างกาย จึงเป็นตัวแปรสำคัญของการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าการจะใช้บทลงโทษที่รุนแรง
ซึ่งไม่อาจแก้ข้อบกพร่องทางร่างกายเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น การใช้ยาหรือสารเคมีในการลดความต้องการทางเพศ หรือบรรเทาสภาวะจิตที่ไม่ปกติ (Chemical castration)
ทั้งนี้ มาตรา 19 ของกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ กำหนดให้ศาลอาจออกคำสั่งให้ใช้ยาหรือสารเคมีเพื่อลดความต้องการทางเพศ หรือบำบัดรักษาผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศในบางรายได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เข้าบำบัดภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน
และในมาตรา 21 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ซึ่งสิทธิของการยินยอมเข้าบำบัดตามกระบวนการ ว่าจะนำมาเป็นเหตุให้ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนกำหนดได้
ในทางกลับกัน หากไม่ยินยอมเข้าสู่การบำบัดก็จะต้องยอมรับโทษตามที่กฎหมายในลักษณะแห่งความผิดนั้นกำหนดไว้เต็มจำนวนตามปกติ
2.มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ (Supervision orders)
คือ มาตรการจำแนกโอกาสของนักโทษที่จะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษเป็นรายบุคคล ซึ่งทำการคัดกรองโดยกรมราชทัณฑ์ผ่านการพิจารณาจากประวัติส่วนตัว และสถิติของการกระทำความผิดซ้ำในลักษณะความผิดที่ถูกลงโทษ มีหลักการทางกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 23
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์จะส่งรายชื่อคนที่เข้าข่ายให้คณะกรรมการร่วมตามกฎหมายพิจารณาก่อนครั้งหนึ่ง หากคณะกรรมการร่วมเห็นชอบจะนำรายชื่อเสนอพนักงานอัยการ และเสนอต่อศาลต่อไปตามลำดับ
ศาลมีอำนาจพิจารณาขั้นสุดท้าย โดยประกอบกับรายงานการพิจารณาตามกระบวนการทั้งหมด เพื่อชี้ว่านักโทษเด็ดขาดรายดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำภายหลังปล่อยตัวหรือไม่
หากใช่ศาลจะกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษอย่างน้อย 1 มาตรการ จากทั้งสิ้น 13 มาตรการ เช่น การให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด รวมไปถึงติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังก่อนมีการกระทำความผิด
3.มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ (Detention orders)
เป็นมาตรการที่นำมาใช้อย่างจำกัดเฉพาะ 2 กรณี คือ 1.มีการขัดคำสั่งเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ มาตรา 30 และ 2.การคุมขังทันทีหลังจากพ้นโทษในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี สำหรับกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันไม่ให้ไปกระทำความผิดซ้ำได้อีกตามมาตรา 28
แต่กรณีนี้ศาลจำต้องเข้ามาตรวจสอบพฤติกรรมของนักโทษที่คุมขังทุก 6 เดือน ว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ หากพบข้อบ่งชี้ไปในทิศทางที่ดี ศาลจำต้องยกเลิกคำสั่งคุมขังดังกล่าวโดยทันที เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ถูกคุมขังเกินสมควร ทั้งนี้มาตรการคุมขังในกรณีนี้จะต้องใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น
สุดท้ายนี้ คำถามที่ไม่สามารถปฏิเสธได้จากสังคม คือมาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
ในมุมมองของผู้เขียนยืนยันว่า หากการใช้กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เป็นไปภายใต้รูปแบบของการบำบัดทางการแพทย์ และเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเป็นสำคัญ และใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษเป็นกรณีเฉพาะในทางเลือกสุดท้าย เช่นนี้ รูปแบบกระบวนการทางการจัดการย่อมสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
กฎหมายดังกล่าวได้ตั้งเงื่อนไขเป็นการเฉพาะอย่างชัดเจนแล้ว ว่าจะใช้กับกรณีความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น จึงมิใช่การขยายบทลงโทษที่เกินกว่าความรับผิดของผู้ต้องโทษแต่อย่างใด
ในทางกลับกันยังเป็นการยืนยันกระบวนการที่ไม่ต้องการใช้ “บทลงโทษ” เป็นทางออกของการแก้ปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากกระบวนการยุติธรรมด้วยนั่นเอง