เปิด โพลสงกรานต์ 2567 ชี้คนไทยเน้นกลับภูมิลำเนา รดน้ำขอพรพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่
รมว.วธ. เปิด โพลสงกรานต์ 2567 ชี้คนไทยแห่ร่วมฉลองกันแบบสร้างสรรค์ ในโอกาส สงกรานต์ไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เน้นกลับภูมิลำเนา ทำบุญตักบาตร รดน้ำขอพรพ่อแม่/ญาติผู้ใหญ่
วันที่ 11 เมษายน 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีต่อ ประเพณีสงกรานต์ ปี 2567 หลังจากได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 18,623 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค
โดยผลสรุปปรากฏว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าประเพณีสงกรานต์มีความสำคัญ ร้อยละ 71.22 คือ เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ร้อยละ 69.48 เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างชัดเจนสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นความงดงาม ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทย เช่น ความกตัญญู ความโอบอ้อมอารี ความเอื้ออาทร ความสนุกสนานร่าเริง เป็นต้น และร้อยละ 59.75 เป็นวันครอบครัว เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัวจึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรัก ความอบอุ่น ที่จะได้พบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และทำกิจกรรมร่วมกัน
นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อถามว่านอกจากการ เล่นน้ำสงกรานต์ เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ นิยมทำกิจกรรมใดในช่วงประเพณีสงกรานต์มากที่สุด ปรากฏว่า อันดับ 1 ร้อยละ 70.91 คือ การทำบุญตักบาตร ตามด้วยร้อยละ 67.72 การสรงน้ำพระ และร้อยละ 67.17 กลับภูมิลำเนา
เมื่อถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ว่า ต้องการรดน้ำขอพรบุคคลใดในปีนี้ ผลสรุปชี้ว่า อันดับ 1 ร้อยละ 91.73 คือ พ่อแม่/ญาติผู้ใหญ่ ร้อยละ 46.47 ครูบาอาจารย์/ผู้มีพระคุณ และร้อยละ 37.41 พระสงฆ์
นอกจากนี้ โพลสรุปอีกว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ ร้อยละ 62.55 วัด ร้อยละ 48.89 บ้าน และร้อยละ 47.27 สถานที่ที่มีการจัดงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่ออีกว่า เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าค่าใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ปีนี้ คาดว่าจะใช้จ่ายเฉลี่ย 5,975 บาท (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย หมายถึง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าอาหาร/เครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้า/บริการ) โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.80 ทราบว่าสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดยยูเนสโก และเห็นด้วยกับการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 - 21 เมษายน 2567 รวม 21 วัน ร้อยละ 76.24 ตลอดจนคิดว่างานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น/คึกคัก ร้อยละ 84.29
นอกจากนี้ เด็ก เยาวชน และประชาชน ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 โดยให้สอดคล้องกับแนวคิด กับการจัดงาน 'Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567' 3 อันดับแรก ได้แก่
- อันดับ 1 ร้อยละ 68.29 ให้พิจารณาจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่เป็นการสร้างการรับรู้ต่อประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการประกาศจาก UNESCO
- อันดับ 2 ร้อยละ 53.46 ให้พิจารณาจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ โดยเน้นเรื่องคุณค่าและสาระที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณี
- อันดับ 3 ร้อยละ 51.45 ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์ เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม
อีกทั้งยังต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อดูแลเป็นพิเศษในช่วงเทศกาล ได้แก่ ร้อยละ 77.36 อุบัติเหตุทางการจราจร เช่น ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนกฎจราจร ร้อยละ 61.99 การดื่มสุรา/จำหน่ายสุรา และร้อยละ 45.53 พ่อค้าแม่ค้า ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการ
นายเสริมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันผลสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามว่า เรื่องใดที่ท่านอยากฝากถึงกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริม อนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ให้ดียิ่งขึ้น การรณรงค์ให้วัยรุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใส่เสื้อผ้าให้รัดกุมเหมาะสมกับสถานที่ในการเล่นน้ำสงกรานต์ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอแนะให้มีการรณรงค์ให้เหล่าคนดังแต่งกายเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยชุดไทย ผ้าท้องถิ่นแบบต่างๆ รณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์โดยไม่ใช้ความรุนแรง การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และการไม่ล่วงละเมิดทางเพศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เน้นการจัดประเพณีสงกรานต์แบบโบราณ ประเพณีย้อนยุคเพื่อรำลึกวัฒนธรรมเก่าแก่ของไทยเน้นการละเล่นสงกรานต์ที่เป็นเชิงสร้างสรรค์ อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามและทรงคุณค่าไว้ให้ชนรุ่นหลังตลอดจนให้มีการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง เพื่อให้เข้าถึงประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ให้ทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้น
'จากการที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากยูเนสโก กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมจัดกิจกรรมในหลายพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงมีส่วนร่วมเผยแพร่คุณค่าสาระ ทำ MV เพลงสงกรานต์ภาษาไทย - ต่างประเทศ เพลงสงกรานต์ เผยแพร่ตำนานนางสงกรานต์ ชวนแอนโทเนีย โพซิ้ว เดินสายร่วมประชาสัมพันธ์ พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนทุกท่านสวมใส่เสื้อลายดอกตลอดเดือนเมษายน เพื่อเผยแพร่ความสนุกสนานและเอกลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ไทย'