ศึกษากฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท จากคำพิพากษาศาลฎีกา(4)
มาตรา 1025 อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนนั้นโดยไม่มีจำกัด
คำพิพากษาศาลฎีกา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917-918/2476 นายเกไฮ้ แซ่ตันกับพวก โจทก์ นายไวเจี๊ยก แซ่ถั่ว จำเลย
ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนซึ่งได้รับเงินเดือนและได้รับส่วนแบ่งกำไรของ หุ้นส่วนนั้น ไม่เป็นหุ้นส่วนตามความหมายของกฎหมาย
-คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1771/2499 นายเหลียง ชัดซี โจทก์ นายกิม แซ่ลี้ จำเลย
หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนแต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของห้างหุ้นส่วนได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464 /2501 นายหนูสิงห์ วงศ์นาศรี โจทก์ นายแข เหมทานนท์ จำเลย
การโอนขายหุ้นส่วนโรงสีและชำระเงินการเสร็จแล้วนั้น การโอนขายไม่ต้องทำเป็นหนังสือเพราะหุ้นส่วนไม่ใช่สังหาริมทรัพย์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510 / 2516 (ประชุมใหญ่) นายสถิต ตั้งวาริธร นายเฉลิม มูกา กับพวก จำเลย
ในขณะที่เกิดเหตุละเมิดนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัดสามิตหล่อยางยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ โจทก์ในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่2 และที่3 ให้ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิด
ซึ่งลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3ได้กระทำต่อทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนนั้นได้ และอำนาจฟ้องหรือสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อผู้กระทำละเมิดต่อทรัพย์นั้น เป็นบุคลสิทธิ มิใช่ทรัพย์สินที่ติดตามตัวไปกับตัวทรัพย์
เมื่อสิทธิดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดสหมิตรหล่อยางได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายซึ่งรวมกันเข้าเป็นหุ้นส่วนนั้นก็ตาม อำนาจฟ้องหรือสิทธิ์สิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็หาโอนไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรหล่อยางด้วยไม่
-คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2526 นายมานพ เพ็งสุข โจทก์ โรงแรมปาล์มลอดจ์ กับพวก จำเลย
โรงแรมจำเลยที่ 1เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่อาจฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีได้
จำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนทุกคนมอบอำนาจให้จำเลย เป็นผู้จัดการกิจการโรงแรมจำเลยที่1 จำจำเลยที่2จึงมีอำนาจควบคุมและจัดการโรงแรมจำเลยที่1 ได้ชื่อว่าจำเลยที่2เป็นเจ้าสำนัก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่2ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3559/2550 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายปราโมทย์ เขาเหิน โจทก์ร่วม นายสมพร คุปต์กาญจนากุล จำเลย
โจทก์ร่วมและบิดามารดากับ อ. พี่สาวโจทก์ร่วมได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านทองร่วมกัน โดยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033
ดังนั้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร้านทอง ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนคดีนี้ได้ โดยไม่จำต้องมีหลักฐานการมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมมีอำนาจดำเนินคดีแทนร้านทอง
- กรมชลประทาน โจทก์ บริษัทธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน จำเลย
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีผลเพียงทำให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ป. ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการแทน หามีผลทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับห้างดังกล่าวต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับได้จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14429/2555 การสื่อสารแห่งประเทศไทย โจทก์
บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับพวก จำเลย
โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์พื้นฐานเข้ากับชุมสายโทรศัพท์แบบอัตโนมัติของโจทก์ จำเลยทั้งสองตกลงเข้าร่วมงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่โทรศัพท์นครหลวงจำนวนสองล้านเลขหมาย
โดยจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันจากส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการ เช่น ค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าเช่าเลขหมายโทรศัพท์ ค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำ
จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด ตามมาตรา 1025
แม้สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายกิจการจะระบุว่า บรรดาความรับผิดชอบที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหุ้นส่วนกัน ไม่มีผลผูกพันกับโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6513/2557 ห้างหุ้นส่วนสามัญศรีทรัพย์เจริญ โจทก์
บริษัทเอ็ม เมททอล (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย
ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลนั้น ต้องมีสภาพเป็นบุคคล ดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติไว้ว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งคำว่า บุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ มี ส. จดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบพาณิชยกิจ แต่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5316/2559 กรมสรรพากร โจทก์ บริษัทพรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน)กับพวก จำเลย
จำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศ คือบริษัท พ. และบริษัท ล. ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้ชื่อประกอบการว่า "กิจการร่วมค้า พ. และบริษัท พ. /บริษัท ล." และเข้าทำสัญญากับกรุงเทพมหานคร จากข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า "กิจการร่วมค้า พ. และบริษัท พ. /บริษัท ล." ก็คือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล