เตือน อากาศร้อน สัตว์เสี่ยงติด โรคพิษสุนัขบ้า แนะยึด 5 ย ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

เตือน อากาศร้อน สัตว์เสี่ยงติด โรคพิษสุนัขบ้า แนะยึด 5 ย ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

แพทย์เตือน 'อากาศร้อน' สัตว์เสี่ยงติด 'โรคพิษสุนัขบ้า' ชี้โรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและแสดงอาการแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย แนะยึด คาถา 5 ย. ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

วันที่ 19 เมษายน 2567 แพทย์เตือน 'โรคพิษสุนัขบ้า' สามารถพบได้ตลอดทั้งปี โรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและแสดงอาการแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ข้อมูลจาก สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 6 ราย (จังหวัดชลบุรี 2 ราย สุรินทร์ 2 ราย สงขลา 1 ราย และระยอง 1 ราย)

 

 

สำหรับ สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2566 พบเชื้อในสัตว์ 347 ตัวอย่าง ตรวจพบมากที่สุดใน 'สุนัข'

 

ส่วน สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในเขตสุขภาพที่ 7 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2567 พบเชื้อในสัตว์จำนวน 6 ตัวอย่าง ในพื้นที่ อ.ยางตลาด, อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ และ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นเขตพื้นที่ซ้ำเดิมของปี 2566

 

เตือน อากาศร้อน สัตว์เสี่ยงติด โรคพิษสุนัขบ้า แนะยึด 5 ย ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

 

 

นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษา หรือรับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อน อาจทำให้สัตว์เลี้ยงหงุดหงิดง่ายและทำร้ายเจ้าของหรือเด็กเล็กได้ จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยง หากพบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และช่วยกันจับอย่างระมัดระวังอย่าให้ถูกกัดหรือข่วน จากนั้นกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์หรือตัวสัตว์ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ต่อไป

 

นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งเป็นสุนัขจรจัด ก็เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยรัฐในการแก้ไขปัญหาได้ และรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย คาถา 5 ย. คือ อย่าแหย่ - อย่าเหยียบ - อย่าแยก - อย่าหยิบ - อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

 

และหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรค กัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลให้แห้งและป้ายน้ำยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องตามเวลาและครบชุด

 

'ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้สำเร็จได้นั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ หน่วยงานด้านการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อสร้างระบบการติดตามผู้ถูกสุนัขกัดให้มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกคน ไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ โดยมี อสม.ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นติดตามผู้ถูกสุนัขกัดทุกคนให้ไปพบแพทย์ ไม่ให้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าสุนัขนั้นไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422'

 

เตือน อากาศร้อน สัตว์เสี่ยงติด โรคพิษสุนัขบ้า แนะยึด 5 ย ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

 

ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)