อาลัย 'แม่กิมไล้' ผู้สร้างตำนานขนมหม้อแกงเมืองเพชร เสียชีวิตแล้ว
แห่อาลัย 'แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ' ผู้สร้างตำนาน 'ขนมหม้อแกงเมืองเพชร' เสียชีวิตแล้ว พร้อมเปิดประวัติหญิงแกร่งสู้ชีวิต ก่อนประสบความสำเร็จโด่งดังจนเป็นที่รู้จัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ ผู้ก่อตั้งขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ ตำนานหม้อแกงแห่งจังหวัดเพชรบุรี ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 90 ปี โดยเพจของร้านขนมหม้อแกงแม่กิมไล้สาขาต่าง ๆ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความอาลัย ซึ่งก็มีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์แสดงความเสียใจด้วยเป็นจำนวนมาก
แม่กิมไล้ เป็นที่รู้จักในฐานะหญิงนักสู้ชีวิต มีความเข้มแข็ง อดทน ทำงานตรากตรำอาบเหงื่อต่างน้ำ เร่หาบและรุนรถเข็นขนมขายแถวริมฟุตปาธและในตลาดเมืองเพชรบุรีตั้งแต่เช้าจรดค่ำ จนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคและสามารถถึงเส้นชัยชีวิตได้เป็นเจ้าของธุรกิจร้านขายขนมหวานพื้นเมืองและของฝาก-ของที่ระลึกของเมืองเพชรบุรี ภายใต้แบรนด์ 'แม่กิมไล้' และด้วยความหวานหอมของขนมหม้อแกงสูตรความอร่อยที่ไม่มีใครเหมือน ทำให้หลายคนติดใจจนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดเพชรบุรีมาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติ แม่กิมไล้
ประวัติแม่กิมไล้ บุญประเสริฐ มีชื่อ-สกุลเดิมว่า น.ส.ไล้ ตะบูนพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ที่ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นบุตรสาวคนที่ 6 จากจำนวนพี่น้อง 7 คน บิดาคือนายหมู ตะบูนพงษ์ มารดาคือนางแดง ตะบูนพงษ์ ครอบครัวของแม่กิมไล้ค่อนข้างมีฐานะ บิดามารดาประกอบอาชีพทำขนมไทยขายในชุมชนสองฟากฝั่งริมแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน และในงานประจำปีตามวัดต่างๆ เช่น วัดเขาตะเครา วัดปากอ่าวบางตะบูน และวัดเขายี่สาร เป็นต้น
แม่กิมไล้ เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดปากอ่าว (ญาณสาครวิทยาคาร) ต.บางตะบูนออก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ช่วงวันหยุดจะร่วมกับ น.ส.ลั้ง ตะบูนพงษ์ หรือ แม่กิมลั้ง ผู้เป็นพี่สาว พายเรือนำขนมไปขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนสองฟากฝั่งริมแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน
หลังจากเรียนจบ ชั้น ป.4 แม่กิมไล้ ได้พบรักกับ จ.ส.ต.กลม บุญประเสริฐ ซึ่งรับราชการเป็นตำรวจ กระทั่งได้มาใช้ชีวิตด้วยกันขณะที่แม่กิมไล้มีอายุได้ 18 ปี โดยทั้งคู่ได้เช่าบ้านพักอาศัยอยู่ในซอยหน้าวัดมหาธาตุวรวิหาร ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ขณะนั้นแม่กิมไล้มีชีวิตที่แสนจะลำบาก เงินทองก็ไม่มีใช้เพราะสามีทำงานคนเดียว
หลังจากอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนคอยทำหน้าที่เลี้ยงลูกทั้ง 7 คนมาตลอด 10 ปี จนแทบไม่มีโอกาสออกจากบ้านไปไหนเลย เมื่อลูกคนแรกอายุได้ 9 ปี แม่กิมไล้เห็นว่าตนควรคิดหาอะไรทำเพื่อเป็นการช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ประกอบกับแม่กิมไล้มีความรู้ในเรื่องการทำขนมหวานที่เรียนรู้จากมารดามาตั้งแต่เด็ก จึงตัดสินใจทำขนมขาย โดยทำขนมกล้วย ขนมเทียน ขนมตาล และข้าวต้มมัด เดินหาบไปนั่งขายแถวริมฟุตปาธ และตามตลาดในตัวเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่เช้าจรดค่ำเป็นประจำทุกวัน
แม่กิมไล้อดทนต่อสู้กับความยากจน มุ่งมั่นในการทำขนมแบบอดตาหลับขับตานอน จนเริ่มประสบผลสำเร็จ จากขนมที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็เริ่มเป็นที่กล่าวขานของชาวตลาดเมืองเพชรบุรี ขนมห่อที่เคยหาบเพียงเล็กน้อย ก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น และเริ่มหันมาทำขนมหวานจำพวก ทองหยิบ ฝอยทอง ลูกชุบ บ้าบิ่น สังขยา ขนมหม้อแกง ฯลฯ จากที่เคยหาบขนมขายจนหลังแอ่นก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เป็นรถเข็นแทน
มีอยู่วันหนึ่ง พระเทพวงศาจารย์ หรือ หลวงพ่ออินทร์ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดยางในขณะนั้น ผ่านมาเห็นและได้ทักทายกับแม่กิมไล้ว่า จะรวยกันใหญ่แล้ว พร้อมตั้งชื่อให้ว่า 'แม่กิมไล้' เป็นชื่อสิริมงคลสำหรับการค้าขายขนมหวานมาจนถึงปัจจุบัน
ขนมหวานของแม่กิมไล้เริ่มขายดิบขายดีเป็นที่โจทย์ขานของชาวเมืองเพชรบุรี ส่งผลให้แม่กิมไล้เริ่มมีเงินมีทองเก็บ กระทั่งในปี 2515 จึงขยายกิจการเปลี่ยนจากรถเข็นไปขอเช่าพื้นที่เปิดร้านขายขนมหวานที่หน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบุรี
สมัย นายเอนก พยัคฆันตร์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้จัดงานกาชาด ณ สนามหน้าเขาวัง (พระนครคีรี) ภายในงานจัดให้มีการประกวดการทำขนมไทยเมืองเพชร โดยกำหนดให้ทำขนมหม้อแกงสูตรของตัวเอง ซึ่ง ครูทิม วรรณคีรี อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย ในขณะนั้น ได้นำ 'ขนมหม้อแกงของแม่กิมไล้' ส่งเข้าประกวด เมื่อคณะกรรมการได้ชิมขนมหม้อแกงของแม่กิมไล้ก็เห็นตรงกันว่ามีรสชาติหวานมัน หอมกลมกล่อม และมีความอร่อยเป็นเอกลักษณ์ จึงตัดสินให้ขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นมาขนมหม้อแกงแม่กิมไล้เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ
ต่อมาในปี 2517 แม่กิมไล้เห็นว่าธุรกิจการทำขนมหวานเริ่มเติบโตเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงไปซื้อตึกแถวที่หน้าเขาวัง ฝั่งตรงข้ามกับร้านขนมเพชรปิ่นแก้ว เปิดเป็นร้านขายของฝากเป็นแห่งแรก ก่อนขยายไปเปิดที่ฝั่งตรงข้ามอีก 1 ร้าน จนธุรกิจเริ่มเจริญรุ่งเรือง มีลูกค้าและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ แม่กิมไล้ได้ขยายสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา ประกอบด้วย สาขา ต.หัวสะพาน อ.เมืองเพชรบุรี , สาขา ต.เขาทโมน อ.บ้านลาด , สาขา ต.ท่ายาง และ สาขา ต.ไร่ส้ม รวมเป็น 5 สาขา โดยมีลูกหลานของแม่กิมไล้ช่วยกันบริหารจนกิจการรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : maekimlai-raisom.com / เพชรบุรีนิวส์