จำคุก 20 ปี อดีต รมต. คดีฟอกเงินหุ้น นักธุรกิจหมื่นล้าน
ศาลอาญาสั่งจำคุก 20 ปี อดีต รมต. "บรรยิน ตั้งภากรณ์" คดีฟอกเงินหุ้น นักธุรกิจหมื่นล้าน
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) อัปเดตคดีดัง จากกรณีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง อายุ 50 ปี นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหมื่นล้าน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์หรูสีดำ ชนต้นไม้ โดยมีนายบรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมต.พาณิชย์ และ สส.นครสวรรค์ เป็นคนขับ และมีนายชูวงษ์นั่งข้างๆ เป็นเหตุให้นายชูวงษ์ ถึงแก่ความตาย
จากนั้นญาติของผู้เสียชีวิตขอให้ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เข้าคลี่คลายคดี จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่การจับกุม นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตนักการเมืองกับพวก ที่ก่อเหตุเพื่อหวังผลประโยชน์ทางทรัพย์สิน
ซึ่งเมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล นายบรรยินได้ก่อเหตุซ้ำ โดยอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา เพื่อเป็นการบีบบังคับให้ผู้พิพากษาตัดสินผลคดีตามที่ตนเองต้องการ จนท้ายสุดศาลมีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 67 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีดำ ฟ 48 /2565 ที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ จำเลยที่ 1 น.ส.ศรีธรา หรือเพ็ญนิชชา จำเลยที่ 2 (มารดาของ น.ส.อุรชา) และนายประวีร์ หรือนายชัยพรรณ จำเลยที่ 3 (น้องชายของ น.ส.อุรชา) ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เบิกตัว นายบรรยิน จำเลยที่ 1 มาจากเรือนจำ ส่วนจำเลยที่ 2,3 ได้ประกันตัว เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลพิเคราะห์แล้ว พิพากษาว่า นายบรรยิน จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1)(2)(3) ,60 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามป.อาญา มาตรา 91
ให้จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 2 ปี รวม 27 กระทง เป็นจำคุก 54 ปี เมื่อรวมโทษจำคุกแล้ว ให้จำคุกนายบรรยิน จำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.636/2563 หมายเลขแดงที่ อ.637/2563 และหมายเลขดำที่ อ.638/2563 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ยกฟ้องกรณีจึงยังมีเหตุอันควรเชื่อว่า จำเลยที่ 2 และ 3 อาจรับดำเนินการให้ น.ส.อุรชา โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ส่วนจำเลยที่ 2 กับ 3 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 และ 3 รู้ว่าหุ้นและเงินที่ได้จากการขายหุ้น เงินที่รับโอนและโอนไปยังบัญชีธนาคารอื่น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้พิพากษายกฟ้อง