สทนช. ชี้ 'พายุฤดูร้อน' ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ แนะติดตามสภาพอากาศใกล้ชิด
สทนช. ชี้ระยะนี้ไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ช่วยให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่คลี่คลายลง พร้อมย้ำให้ประชาชนติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน
วันนี้ (8 พ.ค. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ในระยะนี้ประเทศไทยมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายแห่ง ส่งผลให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่คลี่คลายลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกและฝั่งอันดามันบางส่วน เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขากระบี่ จ.กระบี่ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำท่าไหลลงคลองกระบี่ใหญ่เพิ่มเติม ทำให้สามารถบริการจ่ายน้ำประปาได้อย่างเพียงพอมากขึ้น รวมถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ที่ขณะนี้มีสถานการณ์ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในบางพื้นที่ที่มีฝนตกค่อนข้างหนัก ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วม เช่น อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งประสบปัญหาการปิดกั้นทางน้ำ ทำให้ระบายน้ำได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ โดย สทนช. จะลงพื้นที่เพื่อติดตามสาเหตุของปัญหาและหาแนวทางแก้ไขโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งขณะนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม เพื่อป้องกันผลกระทบซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด
"ขณะนี้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน โดยคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน พ.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนแรกของฤดูฝน คือตั้งแต่เดือน พ.ค. - ก.ค. 67 คาดว่าจะยังมีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5% ก่อนจะค่อย ๆ มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดพายุฤดูฝนซึ่งจะช่วยเติมปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนเพชรบุรี เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปรานบุรี เป็นต้น
โดยปัจจุบันอ่างฯ แต่ละแห่งมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบและมีการติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด สำหรับพื้นที่ที่มีความห่วงกังวลเรื่องสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในขณะนี้คือ จ.ชุมพร เนื่องจากมีการใช้น้ำในการทำสวนทุเรียนค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ กรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) เพิ่มเติมในพื้นที่ จ.ชุมพร จำนวน 8 อำเภอ 38 ตำบล 266 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.พะโต๊ะ อ.ทุ่งตะโก อ.ละแม อ.สวี อ.หลังสวน อ.ปะทิว อ.ท่าแซะ อ.เมืองชุมพร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่" นายไพฑูรย์ กล่าว
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับการเฝ้าระวังน้ำทะลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง ในช่วงระหว่างวันที่ 5 – 15 พ.ค. 67 ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์เพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำท่าจีน และจากแม่น้ำท่าจีนผันเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นการบริหารจัดการน้ำร่วมกันผ่านระบบคลองต่าง ๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ และในบางช่วงเวลาที่บริเวณคลองสำแลซึ่งเป็นจุดสูบน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวงมีค่าความเค็มสูง ได้มีการประสานไปยังการประปานครหลวงเพื่อให้หยุดสูบน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว
ในส่วนของการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ได้มีการติดตามสถานการณ์เพาะปลูกในทุ่งลุ่มต่ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด ป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายในช่วงที่มีฝนตกหนักในฤดูฝนนี้ โดยขณะนี้การเพาะปลูกเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งกรมชลประทานจะมีการสร้างการรับรู้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด