ชป. เริ่มส่งน้ำต้นฤดูฝนให้เกษตรกรเตรียมปลูกข้าวนาปี วอนใช้น้ำฝนเป็นหลัก
กรมชลประทาน เริ่มส่งน้ำต้นฤดูฝนให้เกษตรกรเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง วอนใช้น้ำฝนเป็นหลัก
วันนี้ (9 พ.ค. 67) ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน (9 พ.ค. 67) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 38,203 ล้าน ลบ.ม. (54% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,665 ล้าน ลบ.ม. หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ณ วันเดียวกัน พบว่าในปีนี้ มีปริมาณน้ำน้อยกว่าประมาณ 2,184 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 32,723 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,127 ล้าน ลบ.ม. (23% ของความจุอ่างฯรวมกัน) ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่ยังคงระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และการเกษตร เป็นหลัก
ในส่วนของภาคการเกษตร กรมชลประทาน ได้เริ่มส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มหว่านกล้าเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 67 และเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมผลผลิตเสียหาย อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว (คาดว่าช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนพฤษภาคม 2567) ขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตร เพื่อลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมทั้งสำรองน้ำไว้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฝนปี 67 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถรับมือฤดูฝนได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์