จากคนตกปล่องท่อตาย มาเป็นการแก้ปัญหาระดับชาติ
เมื่อเดือน พ.ค.2567 มีคนข้ามถนนที่กรุงเทพฯ แล้วช่วงที่เดินอยู่บนเกาะกลางถนน ได้ตกลงไปในปล่องท่อลึกที่มีไว้สำหรับบำรุงรักษาท่อร้อยสายไฟและสายสื่อสารใต้ดิน แล้วเสียชีวิต ข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่อยู่พักหนึ่ง
ผมจึงจะนำเหตุการณ์นี้มาสรุปเป็นบทเรียนสำหรับการจัดการอะไรก็ตามที่มาทีหลังและสำคัญกว่าเรื่องตกปล่องท่อตายนี้ โดยจะนำอริยสัจ 4 หรือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มาเป็นหลักในการจัดการ
ทุกข์ ในที่นี้คือมีคนตายด้วยสาเหตุอันไม่ควรตายและไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก สมุทัย คือสาเหตุแห่งทุกข์หรือการตายครั้งนี้ที่ส่วนใหญ่คิดว่าเกิดจากการตกลงไปในปล่องลึกแล้วจมน้ำตาย
แต่นั่นไม่ใช่สมุทัยที่แท้จริง ถ้าเราไล่เรียงสมุทัยหรือสาเหตุนี้ไปตามลำดับเราจะพบว่ามีเหตุที่มากไปกว่านั้นอีกมาก นิโรธ คือผลสุดท้ายที่ต้องการคือต้องไม่มีคนตายเพราะตกท่ออีก ส่วนมรรค คือวิธีการที่จะทำให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ
สมุทัยที่คนไทยมักจะวิเคราะห์กันออกมาไม่ว่าจะเป็นทางช่างหรือทางสังคม ก็คือความด้อยคุณภาพของงาน ไม่ว่าจะเป็น การเอาแผ่นไม้อัดเก่าๆ มาปูทับปากปล่อง หรือไม่มีป้ายบอกถึงอันตรายที่มีอยู่ หรือไม่มีรั้วกั้น หรือไม่มีการตรวจสอบการทำงานของช่างหน้างาน ฯลฯ แต่ถ้าเราวิเคราะห์ไล่เรียงไปตามลำดับเราจะพบสมุทัยตั้งต้นที่แท้จริง ดังนี้
“ทำไมถึงตกลงไป” เพราะแผ่นไม้อัดที่ใช้ปิดฝาปล่องท่อนั้นทะลุ รับน้ำหนักคนเดินเหยียบไม่ได้
“ทำไมถึงรับน้ำหนักไม่ได้” เพราะมันเก่า ผุ และบอบบางเกินไป
“ทำไมจึงยังใช้แผ่นไม้อัดที่เก่าเช่นนั้นมาปิดทับปากปล่อง” เพราะจำเป็นต้องใช้ปิดปากปล่องชั่วคราว
“ทำไมถึงปิดแค่ชั่วคราว” ไม่ทำให้ถาวร เพราะฝาปิดถาวรที่เป็นเหล็กหนาได้ตามมาตรฐานทางวิศวกรรมนั้นไม่อยู่
“ทำไมฝาเหล็กที่ได้มาตรฐานนั้นไม่อยู่” เพราะมีคนมาขโมยไป
นี่ไง นี่คือสมุทัยหรือสาเหตุพื้นฐานเริ่มแรกที่แท้จริงของปัญหา กล่าวคือปัญหาเกิดจากการที่คนไทยบางคนเห็นแก่ได้ส่วนตัว มาขโมยตัวฝาเหล็กที่ได้มาตรฐานนั้นไปขาย จึงเกิดเป็นปัญหาหรือทุกข์ของสังคม มีคนตกลงไปตาย
ถ้าเราเข้าใจสมุทัยตั้งต้นได้แบบนี้ และเราต้องการนิโรธคือไม่มีคนตกลงไปตายอีก เราก็ต้องหามรรคมาแก้ที่เหตุต้นทางนั้นให้ได้ จึงจะแก้ทุกข์นี้ได้
พูดแบบกำปั้นทุบดิน มรรคในที่นี้คือการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ขี้ขโมย ไม่ลักทรัพย์ ส่วนจะทำได้แค่ไหนผมตอบไม่ได้ ทุกคนในสังคมต้องช่วยกัน แต่ถ้าทำได้ ฝาเหล็กจะไม่หาย จะไม่ต้องใช้ฝาไม้อัดมาปิดปากปล่องชั่วคราว จะไม่มีคนตกลงไป และสุดท้ายจะไม่มีคนตายด้วยเหตุไม่สมควรนี้
ถ้าเราไม่แก้ทุกข์นี้ด้วยมรรคที่ตรงโจทย์เช่นว่านี้ แต่เรามัวแก้ปัญหาเพียงเอาฝาเหล็กหนาใหม่มาปิดฝาปล่องทดแทนแทนฝาไม้อัดที่ทะลุไป ฝาเหล็กก็จะถูกขโมยอีก มีคนตายอีก และทุกข์ก็จะวนกลับมาอีกไม่รู้จบ
บทเรียนรู้จึงมิใช่เพียงการดับทุกข์ตื้นๆ ง่ายๆ เช่นกรณีมีคนตกท่อตายนี้ แต่บทเรียนคือถ้าสังคมไทยสามารถเรียนรู้ได้ว่าต้องค้นหาไปจนถึงสมุทัยพื้นฐานตั้งต้นที่แท้จริงเสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดหามรรคมาแก้ปัญหานั้น ปัญหาจะแก้ได้จริงและได้อย่างเบ็ดเสร็จด้วย
ดังนั้น ในอนาคตเมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่เราก็จะไม่วิเคราะห์แบบผิวเผินอย่างที่ทำกันมาแต่เดิม แบบที่บอกว่าคนตกลงไปตายเพราะฝาปิดมันเก่าอีกต่อไป
แต่เราจะวิเคราะห์ไล่เรียงไปจนถึงสาเหตุหรือสมุทัยต้นทางที่แท้จริง แล้วมรรคที่ใช้แก้ปัญหาได้ตรงกับสมุทัยหรือโจทย์จริงก็จะตามมาได้ไม่ยาก
ขอเฝ้าคอยว่าสักวันหนึ่งบ้านนี้เมืองนี้จะใช้หลักคิดเช่นว่านี้มาจัดการกับปัญหาของประเทศ และเลิกทำแบบทำให้เสร็จๆ แต่ไม่สำเร็จเสียที.