อัปเดต 'ยางพารา' กยท. หนุนนโยบายรัฐบาล เร่งออกโฉนดต้นยาง
ความเคลื่อนไหวอัปเดต 'ยางพารา' การยางแห่งประเทศไทย กยท. หนุนนโยบายรัฐบาล เร่งออกโฉนดต้นยาง ชี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการยางทั้งระบบ
KEY
POINTS
- ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า เพราะเกษตรกรเจ้าของสวนยางจะไม่ยอมให้มีการเผาป่าในพื้นที่สวนยางหรือพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่สวนยางจะได้รับความเสียหาย
- สามารถตรวจย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดยางพาราตามกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) เพราะโฉนดต้นยางจะทำให้รู้พิกัดของต้นยางซึ่งมีเอกสารสิทธิ์รับรอง
- สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ยืนยันแล้วว่ายางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่กักเก็บคาร์บอนได้
รายงานอัปเดต 'ยางพารา' กยท. หนุนนโยบายรัฐบาล เร่งออกโฉนดต้นยาง ชี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการยางทั้งระบบ
การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เดินหน้าออกโฉนดต้นยางพาราตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ มั่นใจจะช่วยแก้ปัญหายางทั้งระบบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับยางอย่างยั่งยืน ย้ำไม่สนับสนุนการบุกรุกป่าแต่จะทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล รวมทั้งยังสอดรับกับกฎ EUDR ช่วยป้องกันไฟป่าลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตลอดจน ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กยท. เร่งดำเนินการสำรวจต้นยางพาราทั่วประเทศ ทั้งที่ปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ และพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อออกโฉนดต้นยางพาราให้กับเกษตรกรที่เป็นเจ้าของต้นยางตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้โฉนดต้นยางพารา จะระบุว่าใครเป็นผู้ครอบครองต้นยางพารา และตั้งอยู่ที่ใด เปรียบเสมือนเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองเฉพาะต้นยางพารา ไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินที่ปลูก ซึ่งจะทำให้ทราบพิกัดที่ชัดเจนของต้นยางแต่ละต้น
ข้อมูลจำนวนพื้นที่ปลูกยางที่แท้จริงของประเทศไทย ตลอดจนปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละช่วงเวลา สามารถนำมาใช้วางแผนบริหารจัดการและแก้ปัญหายางทั้งระบบของ กยท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ต้องยอมรับความจริงว่า มีสวนยางจำนวนมากที่ปลูกในพื้นที่ที่รัฐไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ให้ได้ ทั้งๆ ที่เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนที่รัฐจะประกาศเป็นเขตป่าสงวนหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรืออุทยานแห่งชาติเสียอีก
ดังนั้น เกษตรกรที่เป็นเจ้าของโฉนดต้นยาง เป็นผู้ดูแลและบำรุงรักษา ก็ควรจะได้สิทธิ์ในการครอบครองต้นยางที่ปลูกดูแลรักษาจนเติบโต ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน และมีรายได้จากการปลูกยางต้นนั้นๆ เพราะกว่าต้นยางจะเติบโตจนสามารถให้ผลผลิตน้ำยางได้นั้น ย่อมมีค่าใช้จ่าย
สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการบุกรุกป่า แต่จะทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลเพราะต้นยางเป็นไม้ยืนต้น การปลูกยางก็เหมือนปลูกป่า ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า และยังมีรายได้จากป่าที่เป็นสวนยางอย่างยั่งยืน” ประธานบอร์ด กยท. กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ การออกโฉนดต้นยางพารายังก่อให้เกิดประโยชน์ในอีกหลายมิติ เช่น
- ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า เพราะเกษตรกรเจ้าของสวนยางจะไม่ยอมให้มีการเผาป่าในพื้นที่สวนยางหรือพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่สวนยางจะได้รับความเสียหาย
- สามารถตรวจย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดยางพาราตามกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) เพราะโฉนดต้นยางจะทำให้รู้พิกัดของต้นยางซึ่งมีเอกสารสิทธิ์รับรอง
- สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ยืนยันแล้วว่ายางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่กักเก็บคาร์บอนได้ ดังนั้น เกษตรกรที่ได้รับโฉนดต้นยางก็จะมีรายได้เสริมจากการขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยประมาณ 1,200 บาท/ไร่ ได้สิทธิ์ในการรับมาตรการช่วยจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการชดเชยการปลูกทดแทน มาตรการชดเชยรายได้ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ายางจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ กยท. ตั้งเป้าที่จะออกโฉนดต้นยางให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด เพื่อให้การบริหารจัดการยางของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพให้ยางพาราอย่างยั่งยืน