รับมือให้ทัน 'ฝนตกหนัก' 26 จังหวัด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 18 – 25 พ.ค. 67
ปภ. แจ้งแล้ว 26 จังหวัด พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำท่วมฉับพลัน - น้ำป่าไหลหลาก วันที่ 18-25 พฤษภาคม 2567 ประชาชนรับมือให้ทัน เช็กพื้นที่เสี่ยงภัย จุดเสี่ยงอันตรายได้ที่นี่
ประชาชนรับมือให้ทัน เช็กพื้นที่เสี่ยงภัย จุดเสี่ยงอันตราย! หลัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. แจ้งแล้ว 26 จังหวัด พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำท่วมฉับพลัน - น้ำป่าไหลหลาก วันที่ 18-25 พฤษภาคม 2567
โดยในวันนี้ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 26 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18 - 25 พฤษภาคม 2567
โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีประกาศฉบับที่ 3/2567 เรื่องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก แจ้งว่า
หย่อมความกดอากาศกำลังแรงก่อตัวในทะเลอันดามัน ส่งผลให้ลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18 – 25 พฤษภาคม 2567 แยกเป็น
พื้นที่จังหวัดได้รับผลกระทบฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก 18 – 25 พ.ค 67
เช็กพื้นที่เสี่ยงภัย ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่
- แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย)
- เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย อำเภอจอมทอง)
- ลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน)
- ลำปาง (อำเภอเกาะคา อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก)
- แพร่ (อำเภอวังชิ้น)
- น่าน (อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว)
- อุตรดิตถ์ (อำเภอตรอน)
- ตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด)
- สุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสัชนาลัย)
- พิษณุโลก (อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง)
- เพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเขาค้อ)
เช็กพื้นที่เสี่ยงภัย ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่
- ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา)
- ระยอง (อำภอเมืองระยอง)
- จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน)
- ตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่)
เช็กพื้นที่เสี่ยงภัย ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่
- ชุมพร (อำเภอท่าแซะ อำเภอพะโต๊ะ)
- สุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอพนม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอเกาะพะงัน)
- นครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอถ้ำพรรณรา)
- พัทลุง (อำเภอป่าบอน อำเภอตะโหมด)
- สงขลา (อำเภอสะเดา)
- ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ อำเภอ ละอุ่น อำเภอสุขสำราญ อำเภอกระบุรี)
- พังงา (อำเภอเมืองพังงา อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง)
- ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ อำเภอถลาง)
- กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม อำเภอปลายพระยา อำเภอเกาะลันตา)
- ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอปะเหลียน อำเภอนาโยง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอหาดสำราญ อำเภอรัษฎา อำเภอวังวิเศษ)
- สตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 26 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว
โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม
ซึ่งส่งผลให้เกิดอุทกภัยได้ และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำ
รวมถึงประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”
และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM
รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
อ้างอิง : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM