กรมอุทยานฯ แจงยิบ 3 ประเด็นสงสัย ลูกจ้างผี ปลูกป่าทิพย์ เงินอุทยานฯ ส่อทุจริต

กรมอุทยานฯ แจงยิบ 3 ประเด็นสงสัย ลูกจ้างผี ปลูกป่าทิพย์ เงินอุทยานฯ ส่อทุจริต

กรมอุทยานฯ แจงยิบ 3 ประเด็น หลังถูกตั้งข้อสงสัยปม ลูกจ้างผี ปลูกป่าทิพย์ และช่องโหว่ของเงินอุทยานฯ ยืนยันดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบ โปร่งใส จัดเก็บเงินรายได้พุ่ง เร่งสนับสนุนการท่องเที่ยว

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ อันอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรใน 3 ประเด็น โดยตั้งข้อสงสัย

  • ประเด็นแรก การจ้างลูกจ้างผีมาปฏิบัติงานพิทักษ์ป่า เรื่องนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการปฏิบัติงานในการอนุรักษ์และป้องกันรักษาป่า งานป้องกันไฟป่า งานปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า มีความจำเป็นที่จะต้องจัดจ้างบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับการคุ้มครองดูแลพื้นที่

 

 

กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีการจ้างเจ้าหน้าปฏิบัติงานในลักษณะของการจ้างบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยได้รับค่าจ้างเป็นค่าตอบแทนรายเดือน และการจ้างในลักษณะ TOR ซึ่งมีข้อกำหนดและขอบเขตการจ้างงานที่ชัดเจน คำนึงถึงความเหมาะสมต่องานและความคุ้มค่า และมีการตั้งกรรมการหรือคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างให้ถูกต้องตามข้อกำหนดและขอบเขตของงานข้างต้น

สำหรับการจ่ายเงินค่าจ้างทั้งบุคคลภายนอกและ TOR ได้ทำการโอนเงินเข้าบัญชีของพนักงานโดยตรง กรมอุทยานแห่งชาติฯได้ให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วประเทศมาโดยตลอด จะเห็นได้จากมีการเพิ่มสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดได้มีการเพิ่มอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท พร้อมกันทุกอัตราทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลภายในเดือนตุลาคม 2567

อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีการกระทำความผิด หรือเป็นผู้ถูกกระทำในลักษณะดังกล่าว ขอให้แจ้งข้อมูลมายัง กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อที่จะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดต่อไป

 

 

  • ประเด็นที่ 2 กรณีปลูกป่าทิพย์ การปลูกป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะดำเนินการปลูกฟื้นฟูในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งมีสภาพป่าเสื่อมโทรม ในช่วงเริ่มต้นของการกำหนดแปลงปลูก จะดำเนินการโดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานในระดับจังหวัด เช่น ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ฯลฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมของแปลงปลูกป่าอย่างรอบคอบ ภายหลังจากที่ได้มีการกำหนดแปลงปลูกป่าเป็นที่ชัดเจนแล้ว กรมอุทยานแห่งชาติฯจะมีการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเพื่อคัดเลือกเอกชนสำหรับปลูกป่า มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำแปลงปลูกป่า แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจการจ้าง มีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับฟื้นฟูบำรุงแปลงปลูกป่าในระยะ 2-10 ปี เมื่อพ้นจากระยะฟื้นฟูฯแล้ว จะพิจารณาส่งมอบพื้นที่ให้กับหัวหน้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือหากพื้นที่ป่ามีสภาพความสมบูรณ์ตามระบบนิเวศ ก็จะดำเนินการประกาศผนวกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามขั้นตอน ดังนั้น ตามกระบวนการที่กล่าวมาจึงไม่อาจเป็นไปได้ที่จะมีการปลูกป่าทิพย์ตามข้อสงสัยข้างต้น
  • ประเด็นที่ 3 ช่องโหว่ขอเงินนอกงบประมาณ (เงินอุทยานแห่งชาติ และเงินอนุรักษ์สัตว์ป่า) การแก้ไขปัญหาช่องโหว่ขอเงินอุทยานแห่งชาติและเงินอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติ มีการใช้จ่ายตามระเบียบกรมฯว่าด้วยการนำส่ง การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงินเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ. 2564 อย่างถูกต้องชัดเจนตามระเบียบที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติ โดยมีบุคคลภายนอกอันเป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อร่วมในกระบวนการพิจารณาโครงการต่างๆ ที่ได้รับการเสนอ เงินอุทยานแห่งชาติ และเงินอนุรักษ์สัตว์ป่า จะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในพื้นที่โซนบริการของอุทยานแห่งชาติ ใช้จ่ายเป็นค่าจ้างให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรในหน่วยงาน ตลอดจนการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติ

จากการเปรียบเทียบสถิติเงินอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2566 กับปี พ.ศ 2567 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน) สามารถจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติได้แล้วจำนวน 1,700,240,637 บาท เพิ่มขึ้นถึง 55.21% เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกัน

'เงินอุทยานแห่งชาติในส่วนนี้ ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการงานอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากได้มีการตัดแบ่งงบเงินอุทยานแห่งชาติส่วนหนึ่ง สำหรับใช้ในการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานนอกเหนือจากงบประมาณปกติที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติฯเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการถ่วงดุลระบบการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นกรณีที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เช่นกัน'

 

  • อ่านเพิ่มเติม รายละเอียดคำชี้แจงจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ (คลิก)

 

กรมอุทยานฯ แจงยิบ 3 ประเด็นสงสัย ลูกจ้างผี ปลูกป่าทิพย์ เงินอุทยานฯ ส่อทุจริต