กทม. ขยายผลสอบจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ตั้งแต่ปี 66-67
กทม. ขยายผลสอบโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ตั้งแต่ปี 66-67 "ชัชชาติ" ย้ำ ต้องโปร่งใสและชี้แจงกับสังคมได้
วันนี้ (10 มิ.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) พร้อมด้วยนายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2567 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) กล่าวว่า ความคืบหน้าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย พบมีมูลที่ส่อการทุจริตและมีประเด็นที่มีข้อบกพร่องหลายประเด็น ซึ่งอาจผิดกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) จึงรวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบต่อไป ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้นำข้อมูลเสนอให้ปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณาตั้งกรรมการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการทางวินัยและส่งดำเนินคดีอาญาต่อไป
สำหรับในสัปดาห์นี้จะมีการขยายผล โครงการการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ทั้งหมด ตั้งแต่ปี 66 - 67 ว่ามีข้อบกพร่องหรือประเด็นสำคัญอะไรบ้าง โดยตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีข้อสงสัยหรือพฤติกรรมเบื้องต้นที่เข้าข่ายทุจริต จะส่งสำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่มเติม ส่วนในเชิงรุก การของบประมาณปี 2568 ทางสำนักงานตรวจสอบภายในจะเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบราคาของรายการหรือโครงการที่จะเสนอของบประมาณในปี 2568 ทั้งหมด
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ส่วนการดำเนินการในภาพรวม ขณะนี้ได้สั่งการ 3 คำสั่ง คือ
1) ให้ปลัดกรุงเทพมหานครกำกับดูแลเรื่องกรณีเครื่องออกกำลังกายอย่างเข้มข้น และให้เสนอรายงานความคืบหน้าเข้ามาทุกสัปดาห์
2) ให้ปลัดกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายข้าราชการประจำ ดำเนินการตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างทุกหน่วยงานให้โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบ ชี้แจงกับสังคมได้ในทุกรายการ โดยให้สรุปผลรายงานเข้ามาทุกเดือนแจ้งให้ฝ่ายบริหารทราบ
3) สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำราคากลางที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ได้ราคากลางและรายละเอียดของอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการจัดซื้อ โดยเรื่องนี้น่าจะเป็นตัวอย่างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจุดอื่นของประเทศ ทำให้ลดการใช้วิจารณญาณและมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน