ฤดูฝน ปี 67 สทนช. จับตาฝนทิ้งช่วง พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วม หวังลดความเสียหาย

ฤดูฝน ปี 67 สทนช. จับตาฝนทิ้งช่วง พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วม หวังลดความเสียหาย

สทนช. จับตาสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง เตรียมให้ความช่วยเหลือลดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร พร้อมเฝ้าระวังอุทกภัยในช่วงฝนตกหนัก เผยเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านช่วยให้เผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

วันนี้ (19 มิ.ย. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

โดยรองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่การเพาะปลูกพืชฤดูฝนแล้ว ประมาณ 24 ล้านไร่ จากแผนทั้งหมดจำนวน 87 ล้านไร่ แต่พบว่าหลายพื้นที่ของประเทศยังมีค่าความชื้นในดินน้อย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีษะเกษ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.สุพรรณบุรี จ.ชัยนาท และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ใน จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งในการประชุมวันนี้ได้เน้นย้ำในเรื่องของการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรไว้แล้ว โดยพื้นที่ในเขตชลประทานจะมีการสูบน้ำส่งเข้าไปในพื้นที่

ฤดูฝน ปี 67 สทนช. จับตาฝนทิ้งช่วง พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วม หวังลดความเสียหาย

สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปสำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในระยะนี้จะมีปริมาณฝนตกกระจายในบริเวณพื้นที่ที่มีความชื้นน้อย ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกเพิ่มขึ้นได้ในบางพื้นที่
 

สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามทั้งคาดการณ์สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเพื่อให้ความช่วยเหลือลดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังเรื่องอุทกภัย เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยอาจจะมีฝนตกหนักในบางช่วง จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11 – 19 มิ.ย. 67 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด

ฤดูฝน ปี 67 สทนช. จับตาฝนทิ้งช่วง พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วม หวังลดความเสียหาย

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ช่วงวันที่ 24 – 26 มิ.ย. 67 โดยเฉพาะภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ซึ่งยังคงเน้นย้ำในเรื่องของการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชน พร้อมทั้งได้มีการติดตามความพร้อมของอาคารชลศาสตร์ โทรมาตร และคันกั้นน้ำ โดยขณะนี้มีความพร้อมใช้งานแล้วในเกือบทุกแห่ง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำในทุกจุดเสี่ยง อีกทั้งได้มีการเร่งกำจัดวัชพืชและผักตบชวาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยขณะนี้มีการกำจัดไปแล้วกว่า 4.6 ล้านตัน หรือคิดเป็น 56% ของแผนทั้งหมด

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ได้มีการเร่งระบายน้ำจากอ่างฯ ที่มีภาวะเสี่ยงน้ำล้นตั้งแต่ในช่วงต้นฤดูฝนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวนมากในช่วงที่มีฝนตกหนัก ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนของปีนี้จะเป็นการเชื่อมโยงเป็นกลุ่มลุ่มน้ำโดยคำนึงถึงความเป็นเอกภาพในภาพรวมทั้งประเทศ” นายไพฑูรย์ กล่าว

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า การรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนปีนี้ ภาครัฐได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน โดยได้มีการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างครบถ้วน รวมถึงได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ ในแต่ละจังหวัดได้มีการดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีการตั้งคณะทำงานของจังหวัดเพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะอาจจะตกหนักในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับกระทรวงและหน่วยงานปฏิบัติ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. 67 ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยด้วย โดยการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่และครบครันจะช่วยให้สามารถเผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผน ช่วยลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และหากกรณีเกิดภัยแล้ว จะสามารถเข้าไปช่วยดูแลฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น