สรุปที่สุด 10 เรื่องต้องรู้ 'อภิวัฒน์สยาม' 24 มิ.ย. 2475

สรุปที่สุด 10 เรื่องต้องรู้ 'อภิวัฒน์สยาม' 24 มิ.ย. 2475

สรุปที่สุด 10 เรื่องต้องรู้ 'อภิวัฒน์สยาม' 24 มิ.ย. 2475 สาเหตุสําคัญที่ทําให้การยึดอํานาจวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คืออะไร

วันที่ 24 มิถุนายนมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งความสำคัญไม่เกี่ยวกับ 24 มิถุนายนคือวันเกิดใคร แต่เป็นเรื่องสาเหตุสําคัญที่ทําให้การยึดอํานาจในสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประสบความสําเร็จ เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มคณะราษฎร

กล่าวคือ 24 มิถุนายน 2475 "วันอภิวัฒน์สยาม" เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย 

สรุปที่สุด 10 เรื่องต้องรู้ อภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475

1. คณะราษฎรคืออะไร มีใครเป็นแกนนำบ้าง

คณะราษฎร คือกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ในยุคสมัยนั้น

แรกเริ่มกลุ่มคณะราษฎรก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2467 โดยมีผู้ร่วมเข้าประชุม ได้แก่ 

1. นายปรีดี พนมยงค์

2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ

3.นายประยูร ภมรมนตรี

4. ร.ท.ทัศนัย นิยมศึก

5. นายตั้ว ลพานุกรม

6. นายแนบ พหลโยธิน

7. หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)

จากนั้นกระบวนการหาสมาชิกเพิ่มของกลุ่มคณะราษฎรก็ได้ขยายแวดวงเข้ามาถึงกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และในปี พ.ศ. 2475 จึงทำการอภิวัฒน์ระบบการปกครอง โดยมี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าผู้ก่อตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ที่มีนายทหารระดับนายพันเอก 3 คน คือ 

  • พระยาพหลพลพยุหเสนา 
  • พระยาทรงสุรเดช 
  • พระยาฤทธิอัคเนย์ 

ทั้งนี้ในกลุ่มคณะราษฎรก็ไม่ได้มีแต่นักเรียนนอก แต่ยังมีทั้งกลุ่มนักเรียนในประเทศ ข้าราชการ และกลุ่มพลเรือนอื่นๆ อีก เนื่องจากความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นความคิดที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มสังคมหลายกลุ่ม ได้แก่

- นักหนังสือพิมพ์

- นักเขียน

- ผู้มีการศึกษา

- ครู

- ชนชั้นกลางในเมือง

- พ่อค้า

- เจ้าของกิจการรายย่อย

2. ยึดอำนาจ 24 มิถุนายน 2475 เกิดในสมัยรัชกาลที่ 7

เหตุการณ์วันอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นนั้น พระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ

ถัดมาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาธิปไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวให้เป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราวไปก่อน

 

3. ปัจจัย 24 มิถุนายน 2475 สาเหตุที่ทำให้เกิดการอภิวัฒน์สยาม

ปัจจัยด้านสถาบันการเมือง ที่มีการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มเจ้านายและขุนนางชั้นสูง จนการบริหารราชการแผ่นดินล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ บวกกับความไม่ยุติธรรมในระบบราชการ

ปัจจัยด้านอุดมการณ์ ที่มีการแพร่หลายของแนวคิดใหม่ๆ ทำให้สามัญชนเกิดจิตสำนึกตื่นตัว และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและชาตินิยมของประชาชน ซึ่งท้าทายอุดมการณ์แบบจารีตที่เน้นชาติกำเนิด บุญบารมี และความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น

ปัจจัยด้านการก่อตัวของชนชั้นใหม่ ที่มีการเติบโตของชนชั้นข้าราชการรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักเรียนนอก นักเรียนใน นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และวิชาชีพสมัยใหม่ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มคนใหม่ๆ เหล่านี้มาพร้อมกับจิตสำนึกใฝ่หาเสรีภาพ ความทันสมัย และความเสมอภาคเท่าเทียม

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ วิกฤติการคลังตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ 6 บวกกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2472-2475 รัฐบาลตัดสินใจแก้ปัญหานี้โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลและปรับข้าราชการชั้นกลางและล่างออกหลายระลอก (แต่ปกป้องชนชั้นสูงและขุนนาง) ขึ้นภาษีรายได้กระทบคนชั้นกลางและราษฎร สร้างความเดือดร้อนให้กับคนระดับล่าง จนเกิดกระแสไม่พอใจต่อรัฐบาล

ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ที่เกิดการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่จีน รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี

4. หลังอภิวัฒน์สยาม 2475 การแย่งชิงอำนาจ

ความวุ่นวายหลังการอภิวัฒน์ 2475 ระลอกแรกเกิดจากฝ่ายขุนนางเก่าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบรัฐธรรมนูญและยื้อแย่งอำนาจกลับคืนจากคณะราษฎรไปสู่กลุ่มตน กระทั่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาหยุดชะงัก

และระลอก 2 คือการรัฐประหาร 2476 ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรที่ต้องการพิทักษ์รักษามรดกของการอภิวัฒน์ กับฝ่ายขุนนางอนุรักษนิยมที่ต้องการทำลายคณะราษฎรและเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญกลับไปสู่ระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์

5. กบฏบวรเดช

เหตุการณ์ของการอภิวัฒน์สยามระลอก 2 เป็นชนวนและส่งผลให้เกิด กบฏบวรเดช เป็นความพยายามก่อการรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของคณะราษฎรในปี 2476 ภายใต้ชื่อปฏิบัติการอย่างเป็นทางการว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง

คณะกู้บ้านกู้เมือง ประกอบไปด้วยเจ้านายและขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาทิ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเป็นผู้นำในการกบฏครั้งนั้น ได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลคณะราษฎรให้ใช้การปกครองในรูปแบบของระบอบราชาธิปไตย โดยใช้กำลังทหารจากหัวเมืองเป็นกำลังหลัก กระทั่งเกิดการปะทะกันในเดือนตุลาคม 2476

6. การเปลี่ยนแปลง "อภิวัฒน์สยาม" ผลกระทบ

ด้านการเมือง เกิดการปรับโครงสร้างอำนาจ สถาปนาการปกครองโดยรัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามฝ่าย (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) มีการสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่ อาทิ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี สมาคมการเมือง กลุ่มผลประโยชน์วิชาชีพ การเลือกตั้ง ฯลฯ ที่เปิดให้คนหน้าใหม่และสามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจสาธารณะมากขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การขยายระบบราชการและปรับวิธีการทำงาน ทั้งยังมีการปฏิรูประบบกฎหมาย มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบกับต่างชาติ ทำให้ประเทศมีเอกราชที่สมบูรณ์

ด้านสังคม มีการจัดระบบการศึกษา ระบบการแพทย์และสาธารณสุข ระบบคมนาคมที่ทันสมัยให้ครอบคลุมและเสมอภาคมากขึ้น โดยรัฐบาลดำเนินบทบาทหน้าที่แบบรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พยายามจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะให้ถึงมือประชาชน เกิดการขยายตัวของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั้งในและนอกกรุงเทพฯ และถนนหนทางเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้า สามัญชนมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ รัฐเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการวางนโยบายและพัฒนาระบบการค้าและการลงทุนในภาคเกษตรกรรม บริการ และอุตสาหกรรม มีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมารองรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เข้าไปจัดหางานและส่งเสริมอาชีพต่างๆ

ด้านวัฒนธรรมและความคิด เกิดการเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วัฒนธรรมการพิมพ์ ละคร และวัฒนธรรมที่อยู่นอกภาครัฐ เกิดการถกเถียงทางอุดมการณ์อันหลากหลายเข้มข้นทั้งที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐ มีทั้งแนวคิดประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ อนุรักษนิยม รอยัลลิสต์ สังคมนิยม รวมถึงชาตินิยมแบบต่างๆ แพร่หลาย เกิดพื้นที่ทางปัญญาและวัฒนธรรมใหม่ๆ มากมาย ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ

24 มิถุนายน 2475 จึงมีฐานะเป็นวันแห่ง "การเปลี่ยนแปลง" เพราะได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปริมณฑลกว้างขวางที่นอกเหนือจากศูนย์กลางในกรุงเทพฯ เกิดโครงสร้างการเมืองใหม่ รูปแบบทางเศรษฐกิจใหม่ และจิตสำนึกแบบใหม่ในหมู่ประชาชน

7. รัฐธรรมนูญในช่วงแรกของไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชน พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม

"ประชาธิปไตย" สำหรับสยามนั้น ถูกมอบให้แก่ประชาชนในรูปของการผ่อน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วง ได้แก่ ช่วงแรก : สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะถูกแต่งตั้งโดยสี่ทหารเสือเท่านั้น (ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร) สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้จะใช้อำนาจแทนประชาชน และสมัยแรกมีกำหนดวาระการทำงานไว้ 6 เดือน 

ช่วงที่สอง : เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ จำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง รัฐสภาถูกเปลี่ยนให้ต้องประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่กึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามแบบประชาธิปไตยทางอ้อม แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะราษฎรก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง

ช่วงที่สาม : พระราชบัญญัติธรรมนูญบัญญัติว่าการเป็นตัวแทนประชาธิปไตยเต็มตัวในรัฐสภานั้นจะบรรลุได้เฉพาะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสิบปีหรือประชากรมากกว่ากึ่งหนึ่งสำเร็จการศึกษาเกินกว่าระดับประถมศึกษา แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดก่อน

8. กระแสการเมืองโลกมีอิทธิพลต่อไทย

การอภิวัฒน์สยามที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2475 นั้น ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสการเมืองโลกตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2465 ที่มีการพังทลายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ประเทศมหาอำนาจที่เคยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย และตุรกี ต่างก็ถูกโค่นลงทุกประเทศ ส่วนประเทศที่ยังมีระบอบกษัตริย์ในยุโรปต่างก็เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของยุคสมัยนั้นไปโดยปริยาย

ส่วนประเทศในทวีปเอเชีย พบว่าระบอบกษัตริย์ของจีนถูกโค่นล้มตั้งแต่ พ.ศ. 2454 ส่วนญี่ปุ่นก็เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2474 และสเปนก็มีการปฏิวัติโค่นระบอบกษัตริย์กลายเป็นระบอบสาธารณรัฐ

9. คณะราษฎรทิ้งมรดกไว้อะไรบ้าง

มรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎร มีทั้งศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรม แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

- รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) เรียบ เกลี้ยง หลังคาแบน ไม่ขึ้นเป็นจั่วทรงสูง ไร้ลวดลายไทย สื่อถึงความเสมอภาค และการลดเลิกฐานานุศักดิ์/ชนชั้นทางสังคม

- ปรับเปลี่ยนการออกแบบผังเมืองให้เป็นสมัยใหม่ เช่น การก่อสร้างถนนกว้าง สร้างวงเวียน วางผังเมืองเป็นตารางสี่เหลี่ยม สื่อถึงการปกครองสมัยใหม่

- ใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ สื่อว่าอำนาจอธิปไตยได้เคลื่อนจากการรวมศูนย์ไว้ที่กษัตริย์มาอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ศิลปวัตถุที่โด่งดังมีทั้งหมุดคณะราษฎร, อนุสาวรีย์ปราบกบฏ, รูปปั้นจอมพลป. ฯลฯ จัดแสดงไว้ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และตึกเทเวศประกันภัย

- 24 มิถุนายน 2475 เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เคยให้เป็นวันชาติด้วย แต่ถูกเปลี่ยนหลังคณะราษฎรหมดอำนาจ

10. จุดจบรัฐบาลคณะราษฎรล่มสลาย

รัฐบาลคณะราษฎรล่มสลายเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2501 ทั้งนี้ขบวนการโจมตีคณะราษฎรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2490 โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาและเติบโตของขบวนการอนุรักษนิยมในสังคมไทย โยงกับฝ่ายนิยมเจ้าที่หมดบทบาทไปหลังปี 2476 แต่ได้รับการฟื้นฟูบทบาทอีกครั้งในยุคประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ และมีบทบาทสูงมากเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้ายถูกรัฐประหาร
 

อ้างอิง :  www.bbc.com , 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475, www.the101.world